ช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนแบบนี้ อาจจะเป็นโอกาสให้เราได้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองก็ได้
ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ มันดีอยู่แล้ว หรือควรปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เพื่อจะได้จะเดินหน้าต่อ
เพราะคำตอบหรือผลลัพธ์ที่ดีนั้น ต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถามที่ดีให้ได้ก่อน
ทิม เฟอร์ริส (Tim Ferris) ผู้เขียน “ทำน้อยแต่รวยมาก” หรือ The 4-Hour Workweek
คือหนึ่งคนที่เชื่อในพลังของการตั้งคำถาม ว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า
ซึ่งเจ้าตัวก็เขียนและพูดถึงเรื่องนี้บ่อย ๆ และรวบรวมคำถามจากประสบการณ์ตรงไว้ในบล็อกส่วนตัว tim.blog ด้วย
มาดูตัวอย่าง 4 คำถาม และ 1 คำแนะนำ ที่ทีมงาน AHEAD ASIA เชื่อว่าจะช่วยให้คุณเกิดมุมมองใหม่ ๆ ในช่วงเวลาแบบนี้ได้
จะเป็นยังไง ถ้าคุณลองใช้เวลา 48 ชั่วโมง ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับที่เคยทำ?
เฟอร์ริส เคยเป็นเซลส์ขายอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล ที่ต้องโทรหาและส่งอีเมลถึงซีอีโอและซีทีโอ แบบไม่หยุดพักตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น
แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ก็ไม่ได้ผล
จนวันนึง เจ้าตัวก็ลองสังเกตดูว่าเซลส์ทุกคนที่บริษัทก็ทำแบบเดียวกัน ส่วนเลขาของซีอีโอและซีทีโอ ที่เป็นคนรับสายและเช็กอีเมล ก็เข้าและออกงานเวลาเดียวกัน
จนเกิดไอเดีย ว่าถ้าลองทำตรงข้ามกับที่เคยทำมาตลอดดู จะได้ผลลัพธ์แบบไหน?
เฟอร์ริส เลือกว่าจะทดลองโทรหาลูกค้าแค่สองช่วง คือ 7.00-8.30 ในตอนเช้า และ 18.00-19.30 น. ในตอนเย็น ของวันพฤหัสบดีและศุกร์
ส่วนช่วงที่เหลือของวัน เขาจะโฟกัสไปที่การส่งอีเมลอย่างเดียว
ปรากฏว่าได้ผล เพราะช่วงที่โทรไป ไม่มีเลขาคอยรับโทรศัพท์ให้ ทำให้เขาได้คุยกับคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจโดยตรง และปิดการขายได้ในที่สุด
ตั้งแต่นั้น เฟอร์ริส ก็เอาไอเดียนี้ไปทดลองกับเทคนิคการขายอื่น ๆ เช่น
ตั้งคำถามแทนที่จะเสนอขายสินค้า
เสนอขายสินค้าด้วยมุมมองและวิธีพูดแบบวิศวกร แทนที่จะเป็นเซลส์
หรือทิ้งท้ายอีเมลด้วยการขอบคุณอีกฝ่ายที่อ่านจบจบ แทนที่จะใช้ประโยคพื้นฐานตามฟอร์แมต
ฯลฯ
ผลลัพธ์คือแค่ เฟอร์ริส คนเดียว ก็ทำยอดขายทั้งไตรมาสได้สูงกว่าบริษัทคู่แข่งทั้งบริษัทด้วยซ้ำ
สิ่งที่ เฟอร์ริส ต้องการจะสื่อ ก็คือถ้าวิธีการที่คุณทำอยู่มันไม่เวิร์ค ให้ลองทำตรงข้ามหรือหาวิธีอื่น ๆ ดู บางทีคุณอาจจะเจอคำตอบที่ต้องการก็ได้
คุณใช้เงินไปกับเรื่องไหนมากที่สุด ลองคิดมุมกลับ ว่าจะสร้างรายได้จากมันได้ยังไง?
บางที การมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ คุณอาจไม่ต้องมองไปไหนไกลก็ได้
เหมือนที่ เฟอร์ริส ถามตัวเองว่า นอกจากค่าใช้จ่ายหลัก ๆ แล้ว เขาใช้เงินไปกับเรื่องไหนมากที่สุด
คำตอบคืออาหารเสริม ที่เจ้าตัวเสียเงินซื้อเดือนละไม่ต่ำกว่า 500 ดอลลาร์ (15,000 บาท)
หรือประมาณ 1 ใน 6 ของรายได้ต่อเดือน 3,300 ดอลลาร์ (1 แสนบาท) ของเจ้าตัวในช่วงนั้น
การหมกมุ่นกับเรื่องนี้ ทำให้เจ้าตัวมีข้อมูลทุกอย่างในหัว
ตั้งแต่ วิธีโฆษณาแบบไหนที่ได้ผล ชื่อร้านค้าและเว็บไซต์ที่ขาย คอมมูนิตี้ ฯลฯ
จนได้บทสรุป ว่าเขาจะทำธุรกิจในสิ่งที่ตัวเองชอบ จนเป็นที่มาของ BrainQUICKEN บริษัทอาหารเสริมที่ทำรายได้ให้เจ้าตัวมหาศาล ทั้งในช่วงที่เป็นผู้ก่อตั้ง และขายกิจการออกไป
แม้บางคนอาจจะบอกว่าสิ่งที่ชอบ อาจไม่ใช่สิ่งที่ใช่ก็ได้
แต่ถ้าคุณมีแพสชั่นมากพอ จนเข้าใจและรู้จักมันทุกซอกทุกมุมจริง ๆ (ไม่ใช่แค่รู้แบบผิวเผิน)
คุณก็น่าจะพร้อมสำหรับสร้างรายได้จากมันแล้ว ซึ่งอาจเป็นอาชีพเสริมก็ได้
อะไรคือสิ่งที่คุณกลัวที่สุด ? แล้วจะรับมือกับมันยังไง ?
นอกจากหนังสือ “ทำน้อยแต่รวยมาก” แล้ว
การขึ้นพูดบนเวที Ted Talk ในประเด็น “ความกลัว” ก็เป็นอีกเรื่องที่ทำให้ชื่อของ เฟอร์ริส เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
เขาเชื่อว่าความกลัว คือสาเหตุหลักที่ทำให้เราไม่กล้าลงมือทำบางอย่าง ทั้งที่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เรากลัวที่สุด คือสิ่งที่เราต้องทำมากที่สุด
แต่คนส่วนใหญ่เลือกทำในสิ่งที่ให้ความมั่นคง ต่อให้ลึก ๆ จะรู้สึกไม่พอใจกับมันก็ตาม
เฟอร์ริส เทียบจากประสบการณ์จริงของตัวเอง ในการหัดว่ายน้ำเพื่อลงแข่งในไตรกีฬารายการ Ironman ทั้งที่ฝังใจจากการเกือบจมน้ำตอนอายุ 7 ขวบ
และพบว่าจริง ๆ แล้ว เรามักให้ค่ากับสิ่งที่กลัวสูงเกินไป
คำแนะนำจาก เฟอร์ริส เรื่องการเอาชนะความกลัว
คือการกลับไปทบทวนอีกครั้งว่ามันน่ากลัวอย่างที่คุณเคยคิดไว้รึเปล่า และเทียบแล้ว มันคุ้มค่ากว่าไหม ถ้าจะลงมือแก้ไขมัน เพื่อก้าวข้ามไปให้ได้
ดูคลิป Ted Talk เรื่องความกลัวของ เฟอร์ริส ได้ที่นี่ https://bit.ly/339KuZl
อะไรที่คุณตัดทิ้งได้ เพื่อแก้ปัญหา?
เฟอร์ริส ซึ่งรับหน้าที่เป็นเมนทอร์ให้กับสตาร์ทอัพหลาย ๆ ราย
แนะนำว่า แทนที่จะคิดเรื่อง “ทำอะไรใหม่ ๆ” อยู่ตลอด ให้เปลี่ยนมุมมองเป็น “ทำในสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ง่ายขึ้น”
เขายกตัวอย่างช่วงที่สตาร์ทอัพรายหนึ่งกำลังรีแบรนด์ และต้องปรับดีไซน์ของหน้าเว็บไซต์ใหม่
แทนที่จะเขียนหรือเพิ่มเอเลเมนท์ใหม่ ๆ ลงไป ซึ่งต้องใช้เวลาและกำลังคนจำนวนมาก
คำแนะนำของ เฟอร์ริส คือให้ตัดอะไรที่ไม่จำเป็นออกให้หมด ซึ่งง่ายและใช้เวลาน้อยกว่า
สุดท้ายหลังจากตัดอะไรที่ไม่จำเป็นออกไปได้เกือบ 70% ปรากฏว่า conversion rate ของหน้าเว็บกลับเพิ่มขึ้นถึง 21.1%
คำถามในข้อนี้ของ เฟอร์ริส ตรงกับแนวคิดแบบมินิมอลนั่นเอง ซึ่งยังเอาไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นได้ โดยการลิสต์ว่าอะไรที่คุณจะไม่ทำ (not-to-do list) แทนก็ได้
+1
ช้าได้ แต่อย่าหยุด
ในหลาย ๆ ครั้ง การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดในเวลาสั้น ๆ
ถ้าคุณรู้ว่าทางข้างหน้าที่กำลังไปนั้น จะพาคุณไปถึงเป้าหมาย “ช้าได้ แต่อย่าหยุด” (No hurry, no pause.) คือสิ่งที่คุณควรนึกถึง เมื่ออะไรรอบข้างไม่เป็นใจ
เฟอร์ริส เล่าว่าเขาได้แนวคิดนี้จากหลักความกลมกลืนของโยคะ และเขียนประโยคนี้ไว้ที่มุมบนของสมุดจดทุกเล่ม
เพื่อเตือนใจ ว่า 95% ของสิ่งที่เราลงมือทำสามารถบรรลุได้ ขอแค่เดินหน้าต่อไปอย่าหยุดเท่านั้น
ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณเองก็ควรนำไปใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนในชีวิต
ในบล็อกของ เฟอร์ริส เขาสรุปคำถามที่ส่งผลกับชีวิตของตัวเองไว้ทั้งหมด 17 คำถาม และเชื่อว่าแต่ละคนก็จะมีคำถามของตัวเองที่ต่างออกไป
แต่สิ่งสำคัญที่สุด ในการตั้งคำถามแต่ละครั้ง เขาเชื่อว่ามันจะต้องนำไปสู่คำตอบที่เรียบง่าย
เพราะถ้าคำตอบที่คุณได้ ยังซับซ้อนหรือต้องตีความเพิ่มเติมอีก
บางที นั่นอาจไม่ใช่คำตอบที่คุณกำลังมองหาก็ได้
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า