อยู่รอด

How to อยู่รอด : กรณีศึกษาจาก ศศิวิมล เสียงแจ้ว แห่ง Daywork

แม้ในรอบปีที่ผ่านมา จะเป็นช่วงเวลาที่ Gig Economy เติบโตขึ้น เพราะผลจากโควิดที่ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวไปพึ่งพาพนักงานพาร์ทไทม์มากขึ้น

แต่ไม่ได้แปลว่า Daywork แพลตฟอร์มสำหรับนักเรียนนักศึกษาในการหางานแบบพาร์ทไทม์โดยเฉพาะ (อ่านเพิ่มเติม เปลี่ยนพาร์ทไทม์ให้เป็นเรื่องคูล ๆ กับ Daywork) จะไม่เจอกับผลกระทบอะไรเลย

ทีมงาน AHEAD ASIA มีโอกาสคุยกับคุณฝ้าย ศศิวิมล เสียงแจ้ว ผู้ก่อตั้งถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงแรกที่มีการล็อคดาวน์ และการปรับตัวว่าทำอย่างไร Daywork ถึงผ่านช่วงเวลาท้าทายที่ว่านั้น และ อยู่รอด มาได้

#1
เมื่อลูกค้า “เลิกจ้าง”

ในช่วงปกติ ธุรกิจที่ต้องการพนักงานพาร์ทไทม์จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ก็คือออฟฟิศ รวมถึงงานอีเวนท์ต่าง ๆ

แต่เมื่อสำนักงานหลาย ๆ แห่ง ต้องเปลี่ยนไป WFH ส่วนอีเวนท์แทบทั้งหมดต้องถูกยกเลิก

เกิดอะไรขึ้นกับ Daywork ที่เดิมโฟกัสที่ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นหลัก?

“ช่วงแรก ๆ คือกระทบหนักมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ ทุกคนไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรได้บ้าง แล้วลูกค้ากลุ่มหลักตอนนั้นคืองานแอดมินที่ทำในออฟฟิศ กับงานอีเวนท์ ซึ่งก็เจอปัญหาโควิดทั้งหมด จนเลิกจ้างเราไปเลย”

“เราเลยต้องปรับตัวเพื่อหาตลาดใหม่ ๆ ก็มาเจอโอกาสจากการโตของอีคอมเมิร์ซ”

“เพราะดีมานด์ในการซื้อของออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น พนักงานแพ็คของในคลังสินค้าก็เป็นที่ต้องการ ก็จะมีการติดต่อเข้ามาเรื่อย ๆ”

“ลักษณะของงานคือพอได้รับออเดอร์ พนักงานก็จะไปหยิบของในคลังมาจ่าหน้า แพ็คของ เตรียมสินค้าให้บริษัทโลจิสติกส์มารับไป”

“ลูกค้ากลุ่มนี้รายแรก ๆ ที่ติดต่อเข้ามา ก็คือ Mycloudfulfillment คลังสินค้าสำหรับคนขายของออนไลน์ มันจะมีบางช่วงที่เค้าต้องการคนเพิ่ม การจ้างพนักงานพาร์ทไทม์ก็จะเหมาะกว่า”

“พอเราเห็นโอกาสตรงนี้ ก็เลยลองติดต่อไปหาที่อื่น ๆ และก็ได้มา อย่าง aCommerce, Ninja, Kerry และก็ Flash Express ฯลฯ”

#2
การปรับตัวของ Daywork

นอกจากการเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า หลายเรื่องในองค์กรก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์เช่นกัน โดยเฉพาะการที่ต้องเป็นฝ่าย Work from Home กันเอง

“อย่างการติดต่อกับลูกค้าก็จะยากขึ้นหน่อย ยิ่งช่วงที่ระบาดหนัก ๆ เค้าก็จะไม่ให้เซลส์ของเราเข้าไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนน่าจะเจอ

“เราก็เลยเปลี่ยนไปทำการตลาดออนไลน์ มีระบบให้ลูกค้าโดยเฉพาะรายย่อย เข้ามากรอกข้อมูลหรือรีเควสคนได้เลย ทีมพัฒนาก็จะใส่ฟังก์ชั่นนี้เพิ่มขึ้นมา เพื่อซัพพอร์ตลูกค้ากลุ่มนี้ได้มากขึ้น”

“ส่วนเรื่องการทำงาน ก็มีข้อตกลงร่วมกันว่าทุกคนต้องสแตนด์บายตลอด เพื่อคุยผ่าน Line หรือ Microsoft Team ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และก็ไปวัด performance ปลายทางว่ายังรักษาผลลัพธ์ได้รึเปล่า ถ้าเหมือนเดิม ก็ไม่มีปัญหา”

#3
เรื่องเงินเรื่องใหญ่

สำหรับทุกธุรกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน กระแสเงินสดคือปัจจัยหลักที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด

ซึ่งคุณฝ้ายก็รับว่าต้องปรับเปลี่ยนบางอย่าง เพื่อให้องค์กร อยู่รอด และเดินหน้าต่อไปได้

“สตาร์ทอัพอาจจะเคยอยู่ด้วยเงินลงทุน แล้วก็เน้นเติบโต แต่ DayWork เราเริ่มต้นด้วยความคิดที่จะทำให้ตัวเลขมันเป็นบวก ถึงอยากได้เงินจากนักลงทุนมาช่วยขยายกิจการ แต่อีกด้านเราก็คิดตลอด ว่าจะทำยังไงให้ผลประกอบการทุกเดือนเป็นบวก เพราะมันยั่งยืนกว่า”

“ที่ต้องทำให้ได้ในตอนนี้ คือกระแสเงินสดที่เป็นบวก เช่น ลดค่าใช้จ่ายเรื่องทีม tech ไปครึ่งหนึ่ง เพื่อไปโฟกัสกับงานขายมากขึ้น ให้เราอยู่ได้ด้วยตัวเอง”

“ความยากของเราคือ เราจะเป็นคนสำรองค่าจ้างให้เด็กที่ทำพาร์ทไทม์ไปก่อน แล้วค่อยไปวางบิลเก็บกับลูกค้า กลายเป็นว่าเราต้องจ่ายค่าแรงเด็กทุกสัปดาห์ แต่ต้องรอเงินจากลูกค้า 30-60 วัน”

“ทีนี้ กลายเป็นว่ายิ่งเค้าขายดีเท่าไหร่ เรายิ่งต้องสำรองเงินก้อนตรงนี้ให้มากขึ้น วิธีหนึ่งก็คือไปเจรจาเพื่อแก้ credit term ให้สั้นลง หรือบางกรณีก็คือไม่มีเลย”

“เราก็ชี้แจงตรงนี้ให้ลูกค้าเก่าเข้าใจ และก็ปรับวิธีการกันใหม่ ส่วนลูกค้าใหม่ ก็จะมีเงื่อนไขพิเศษสำหรับคนที่จ่ายล่วงหน้า หรือคนที่โอเคกับการไม่มี credit term หรือจ่ายระยะสั้นไม่เกิน 7 วัน ก็จะมีเรทพิเศษให้”

#4
อนาคตของการทำงาน

ในฐานะที่เป็นทั้งนายจ้าง คนทำงาน และคนกลางระหว่างทั้งสองกลุ่ม เราถามความเห็นของคุณฝ้ายว่ามองอนาคตของการทำงานไว้อย่างไรบ้าง หลังพบกับความเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องในช่วงที่ผ่านมา

“เราเห็นเลยว่าลูกค้าเริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไป จากนี้หลาย ๆ ธุรกิจ จะเริ่มมองเห็นความยืดหยุ่นในการจ้างคนมากขึ้น”

“สมมติว่าที่ผ่านมา เขามี fixed cost เรื่องพนักงานประจำ อยู่ 90% วันหนึ่งเขาอาจลดตรงนี้เหลือ 70% ที่เหลือก็เพิ่มหรือลดตามสถานการณ์ โดยใช้พนักงานพาร์ทไทม์ช่วย ให้คล่องตัวในการบริหารจัดการคนให้เหมาะกับเนื้องานจริง ๆ”

“ในแง่บุคคล คนก็น่าจะเคยชินกับการทำงานแบบ remote work มากขึ้น แม้แต่เด็กที่ทำงานพาร์ทไทม์ยังถามเราเลยว่า งานนี้เค้าสามารถทำที่บ้านได้ไหม ถ้าทำที่บ้านได้ ก็จะสนใจมากกว่า

“คือยุคก่อนไม่มีข้อเปรียบเทียบ เพราะทุกคนต้องเข้าไปทำงานที่บริษัทเหมือนกัน แต่ตอนนี้มันมีงานหลายอย่างที่ไม่ต้องเดินทาง ก็กลายเป็นตัวเลือกว่าถ้าทำงานที่บ้านได้ ก็อยากทำที่บ้านมากกว่า”

#5
ทักษะของศตวรรษที่ 21

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือคุณฝ้ายมองว่าทักษะในกลุ่ม hard skill อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับการทำงานในอนาคตก็ได้

“ฝ้ายไม่ค่อยมองที่เรื่องสกิล แต่มองที่เรื่อง mindset เป็นหลัก

“มันคือทัศนคติที่ดีในการทำงานของตัวเอง ใส่ใจและรับผิดชอบกับสิ่งที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ ถ้าใครไม่มีตรงนี้ เค้าก็จะทำงานแบบวันต่อวันไปเรื่อย ๆ

แต่ถ้าเค้ามีสิ่งนี้เป็นคาแรกเตอร์พื้นฐาน และอยากจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ มันจะทำให้ใครก็อยากทำงานด้วย”

อ่านเพิ่มเติม
กรณีศึกษาจาก รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้ง QueQ

“ไม่ใช่แค่ปรับ แต่ต้องเปลี่ยน” กับ อัจฉริยะ ดาโรจน์ แห่ง AIYA

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
ไลดาร์

Luminar เผยโฉม Blade ไลดาร์รุ่นใหม่ ฝังในตัวรถได้

Next Article
เหมืองคริปโต

สรุปเหตุรัฐบาลจีนไล่ปิดเหมืองคริปโตเคอร์เรนซี คาดย้ายไปคาซัคฯ-เท็กซัส

Related Posts