นอกจากราคาที่ตกลงอย่างฮวบฮาบในช่วงที่ผ่านมา
อีกหนึ่งข่าวที่สะเทือนวงการคริปโตไม่แพ้กัน คือการที่รัฐบาลจีนสั่งปิดเหมืองขนาดใหญ่ในเสฉวน มณฑลที่มีกำลังการผลิตบิทคอยน์สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ถึง 26 แห่ง เมื่อ 18 มิถุนายน
จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้ในวงกว้าง และอาจกินเวลานานไปตลอดหลายเดือนข้างหน้าด้วย
มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา และทิศทางในอนาคต
#1
เกิดอะไรขึ้น?
รัฐบาลจีนยกระดับความเข้มงวดกับเหมืองในประเทศ ซึ่งมีอัตราส่วนขุดบิทคอยน์และเงินดิจิทัลอื่น ๆ มากถึง 65% ของโลกในปี 2020
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เสฉวน ซึ่งป็นมณฑลที่มีกำลังการผลิตบิทคอยน์สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ก็มีคำสั่งปิด เหมืองคริปโต 26 แห่ง
ตามด้วยคำสั่งให้สถาบันการเงินในประเทศยุติการสนับสนุนธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล
เสริมด้วยข้อมูลจากสำนักข่าวของรัฐ Global Times ว่าอีกไม่นาน เหมืองบิทคอยน์ 90% ในประเทศ จะถูกทางการสั่งปิด
#2
ผลกระทบที่ตามมา
แรงกดดันจากทางการจีน ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจในอนาคตของสกุลเงินดิจิทัล
จนราคาของบิทคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ถดถอยอย่างหนัก
โดยเฉพาะ BTC ที่ราคาตกลงไปต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์ (950,000 บาท) เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
และสูญมูลค่าไปเกินกว่า 50% จากตอนราคาขึ้นสูงสุดที่ 64,870 ดอลลาร์ (2 ล้านบาท) เมื่อเดือนเมษายน
อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างฮาร์ดแวร์ที่ใช้การขุดก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
ราคาการ์ดจอที่เคยถีบตัวสูงเพราะถูกนำไปใช้ขุดเงินดิจิทัลก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา โดยอ้างอิงข้อมูลจาก South China Morning Post ที่ว่าราคาของอุปกรณ์บางชิ้นตกลงจากเดิมถึง 66% ในเวลาสั้นๆ
#3
เหตุผลที่ทางการจีนปราบคริปโต
ที่ผ่านมา จีนมองสกุลเงินดิจิทัล ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายในการกระจายอำนาจ และไม่อยู่ใต้การควบคุมของสถาบันการเงินหรือหน่วยงานรัฐ ว่าขัดกับแนวทางของรัฐบาล
เริ่มจากธนาคารกลางที่ระบุว่า เงินดิจิทัลทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มความเสี่ยงในการทำธุรกรรมข้ามประเทศที่ผิดกฎหมาย และการฟอกเงิน
โดยมีคำสั่งห้ามใช้คริปโตในการซื้อขายสินค้า ตั้งแต่ปี 2013 ห้ามการทำ Initial Coin Offering ในปี 2017 และห้ามการเทรดภายในประเทศ เมื่อปี 2019
ตามด้วยการเดินหน้าสั่งปิดเหมืองอย่างต่อเนื่อง และยกระดับความเข้มข้นในช่วงหลายเดือนหลังสุด
แม้ในการสั่งปิดเหมืองในมองโกเลียตอนในก่อนหน้านี้ จะมีคำอธิบายว่าเป็นเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งที่หลายเหมืองคริปโตเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล
(อ่านเพิ่มเติม จีนสั่งลดเหมืองบิตคอยน์ ตามนโยบายสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน)
แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ก็เชื่อว่าการเดินหน้าปิดเหมืองเงินดิจิทัล น่าจะเป็นเพราะทางการจีนต้องการควบคุมระบบการเงินในประเทศโดยสมบูรณ์มากกว่า
เพื่อปูทางไปสู่การเป็นชาติแรกที่เปิดใช้เงินดิจิทัลของตัวเอง อย่าง ดิจิทัลหยวน (e-yuan) ซึ่งเริ่มทดสอบการใช้งานในเมืองใหญ่หลาย ๆ แห่งแล้ว
#4
ทิศทางของเหล่านักขุด
บทวิเคราะห์จาก MIT Technology Review เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม เหมืองคริปโต แค่ชั่วคราว
ตัวแทนของ Xive ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับเหมืองคริปโตโดยเฉพาะ กล่าวกับ CNBC ว่าหลาย ๆ เหมืองในจีน อาจยังดำเนินงานต่อ แต่เปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าจากภาคเอกชนแทน
แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะรักษาระดับการขุดให้เท่าเดิม
ทางเลือกถัดมา คือการย้ายประเทศ เพราะขอแค่มีกระแสไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ตสำหรับเครื่องมือขุดก็เพียงพอแล้ว
นิค คาร์เทอร์ จาก Castle Island Ventures มองว่า เอเชียกลาง, ยุโรปตะวันออก, สหรัฐฯ และยุโรปตอนเหนือ คือตัวเลือกที่น่าสนใจ
คาซัคสถาน ในเอเชียกลาง คือตัวเลือกลำดับต้น ๆ ในเวลานี้
ด้วยเหตุผลด้านพลังงานราคาถูกจากเหมืองถ่านหินในประเทศ มีพื้นที่เพียงพอสำหรับนักขุดในสร้างอาคารเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ และความได้เปรียบในเรื่องโลจิสติกส์ ตั้งอยู่ติดกับจีน
แบรนดอน อาร์วานาจี (Brandon Arvanaghi) ซึ่งเคยทำงานให้ Gemini เอ็กซ์เชนจ์ของสองพี่น้องวิงเคิลวอสส์ มองว่าอเมริกาเหนือเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ
และแฮชเรทในภูมิภาคนี้ น่าจะพุ่งสูงขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า
อาร์วานาจี ชี้ว่าเท็กซัสคือตัวเลือกแรก ด้วยเรทค่าไฟฟ้าที่ถูกที่สุดในสหรัฐฯ (และเกือบจะถูกที่สุดในโลก) ขณะที่ไวโอมิงที่มีนโยบายสนับสนุนบิทคอยน์ ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
แต่หลังเกิดเหตุพายุฤดูหนาวจนไฟฟ้าจนไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง และน้ำประปาแข็งจนท่อน้ำแตก ทำให้ประชาชนหลายล้านคนเดือดร้อน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ก็เป็นเครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ ว่าเท็กซัส พร้อมแค่ไหน สำหรับการเป็นที่ตั้งใหม่ของเหมืองบิทคอยน์
#5
ความน่าจะเป็นในระยะสั้น
คาร์เทอร์ อธิบายว่าการติดตั้งอุปกรณ์ขุดสำหรับเหมืองขนาดใหญ่ อาจใช้เวลาอย่างน้อย 6-9 เดือนเป็นอย่างต่ำ
การที่เจ้าของเหมืองยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องที่ตั้งแห่งใหม่ และปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ ในกรณีต้องขนส่งทางเรือก็อาจทำให้กำลังการผลิตบิทคอยน์และเหรียญอื่น ๆ ลดลงระยะหนึ่ง
ในแง่ดีคือ นักขุดกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังเหลืออยู่ ก็น่าจะได้กำไรมากขึ้น
คาร์เทอร์ เสริมว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับเหมืองบิทคอยน์เกิดขึ้นก็ได้
เรียบเรียงจาก
Why China’s kicking out the crypto miners
Bitcoin tumbles below $30,000 on China crypto-crackdown
China broadens crackdown on crypto-mining industry
อ่านเพิ่มเติม
สรุป 5 เรื่องน่ารู้ ในแวดวงนักเทรดคริปโตเคอร์เรนซี ปี 2021
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า