Didi Global

จีนถอด Didi Global พ้นสโตร์ หลัง IPO ตลาดหุ้นนิวยอร์ก

จาก Alibaba, Tencent และ Meituan ทยอยโดนกำราบโดยรัฐบาลจีนไปแล้ว

ล่าสุด ก็ถึงคราวของ Didi Global (ชื่อเดิม Didi Chuxing) ผู้ให้บริการเรียกรถเบอร์หนึ่งของประเทศ

เพียงไม่กี่วัน หลังนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

Didi คือ?

Didi Global คือผู้ให้บริการเรียกรถ (ลักษณะเดียวกับ Uber และ Grab) ที่ใหญ่ที่สุดในจีน

การที่ Didi เติบโตได้ขนาดนี้ เพราะสามารถกดดันจนต้นตำรับจากสหรัฐฯ อย่าง Uber ต้องถอนตัวออกไป ในสงครามราคา เมื่อ 5 ปีก่อน

เหมือนที่ Uber ต้องถอนตัวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะแพ้ Grab เมื่อสามปีที่แล้ว

(อ่านเพิ่มเติมได้ใน ถอดรหัส Didi Chuxing อีกหนึ่งผู้พิชิต Uber)

จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทก็เปลี่ยนชื่อเป็น Digi Global และทำ IPO เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ไป เมื่อ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ส่งให้มูลค่า market cap ของ Didi เพิ่มขึ้นเป็น 68,000 ล้านดอลลาร์ (2.18 ล้านล้านบาท)

แม้จะต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ 100,000 ล้านดอลลาร์ (3.2 ล้านล้านบาท) พอสมควร แต่ก็ยังนับเป็นสถิติมูลค่าสูงสุดอันดับ 2 ของบริษัทจีน ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ถัดจาก Alibaba

การเพิ่มทุนได้อีกราว 4 พันล้านดอลลาร์ (120,000 ล้านบาท) จากการทำ IPO

นอกจากจะช่วยให้บริษัทพร้อมต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อย่างการซ่อมบำรุงรถ ส่งสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงนำไปพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติแล้ว

ยังน่าจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ในการขยายธุรกิจมาให้บริการในซีกโลกตะวันตกด้วย

 

เกิดอะไรขึ้น?

แต่ 2 วันหลังการทำ IPO ก็มีประกาศจาก หน่วยงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน (Cyberspace Administration of China หรือ CAC) ภาย​ใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ

ว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบ Didi เรื่องความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน และความมั่นคงของประเทศ

จนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็มีการตัดสินว่า Didi ทำผิดเรื่องการดึงข้อมูลผู้บริโภคไปใช้

และมีคำสั่งให้แอปสโตร์ต่าง ๆ ในจีน (รวมถึง Apple ด้วย) นำแอป Didi ออกจากระบบ

นอกจาก Didi แล้ว อีกสองบริษัทจีนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ คือ Full Truck Alliance และ Kanzhun ก็โดนเรียกสอบด้วย

 

ทำไม?

Didi ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีหัวแถวของประเทศรายแรกที่ถูกทางการจีนจับตาอย่างใกล้ชิด

เพราะก่อนหน้านี้ ทั้ง Alibaba และ Ant Group ฟินเทคยักษ์ใหญ่ในเครือ ก็โดนปรามมาแล้ว จากท่าทีให้สัมภาษณ์ของ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีน

จนทำให้ Ant Group ที่เดิมมีแผนทำ IPO เมื่อปลายปีที่แล้ว (ซึ่งน่าจะเป็นสถิติใหม่) ถูกสั่งเบรคกะทันหัน

จากนั้นเมื่อเดือนเมษายน Alibaba ก็ถูกปรับเป็นเงิน 2,800 ล้านดอลลาร์ หรือราว 87,000 ล้านบาท ในข้อหาผูกขาดทางการค้า

และลามไปถึง Tencent กับ Meituan ยักษ์ใหญ่ด้านเดลิเวอรีของจีน โดยที่ Didi เป็นรายล่าสุด

แม้จะดูบังเอิญที่เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังการ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ

แต่จริง ๆ Didi ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดถึง 88% และผู้ให้บริการเรียกรถรายใหญ่อีก 9 ราย ถูกหน่วยงานต้านการผูกขาดของจีน เรียกไปคุย ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม

และขอให้ปรับปรุงหลายเรื่อง ทั้งราคา และการปฏิบัติกับผู้ขับอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว

The Global Times สื่อในเครือพรรคคอมมิวนิสต์ เสริมว่าการที่ Didi เก็บข้อมูลผู้ใช้แบบเรียลไทม์อย่างละเอียดนั้น สามารถนำไปวิเคราะห์พฤติกรรม เพื่อหวังผลในด้านต่าง ๆ ได้มากมาย

ทำให้รัฐตัดสินใจใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และความมั่นคงของชาติ

เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Didi กลับเป็นบริษัทต่างชาติ ทั้ง Softbank จากญี่ปุ่น 20% ส่วน Uber ที่เป็นบริษัทอเมริกัน ก็ถืออยู่ 12%

แม้เสียงในการโหวตกว่า 50% จะยังเป็นของสองผู้ก่อตั้ง เจิ้ง เหว่ย (Cheng Wei) ซีอีโอ และ หลิ่ว ชิง (Liu Qing) ประธานกรรมการ ก็ตาม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลปักกิ่ง ที่มองว่าในระยะหลัง บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ เริ่มมีอำนาจในการต่อรองมากเกินไป

 

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?

เมื่อเทียบกับที่หลาย ๆ บริษัทเจอมาตรการของทางการจีนแล้ว สิ่งที่ Didi เจอ น่าจะยังถือว่าเป็นการปรามมากกว่าลงโทษ

ทางฝั่งผู้บริหารก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้อะไร มีเพียงแถลงการณ์ว่าจะให้ความร่วมมือกับทางการจีนอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานกว่า 377 ล้านคน ก็ยังสามารถใช้บริการต่อได้ ถ้ายังไม่ได้ลบแอปในเครื่องทิ้ง เพียงแค่ยังไม่รับผู้ใช้งานใหม่เท่านั้น

ซึ่งก็น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม

เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วจาก หวัง ซิง ซีอีโอ Meituan ที่ทวีตบทกวีประชดประชันรัฐบาล ก่อนรับทราบผลการตัดสินเรื่องผูกขาดการค้า

แม้สุดท้าย เจ้าตัวจะลบทิ้ง แต่ก็ส่งผลในทางลบต่อบริษัทมากกว่า

นั่นแปลว่าต่อไป ท่าทีของบิ๊กเทคฯในจีน น่าจะสงบเสงี่ยมลงกว่าที่ผ่านมา

และก็น่าสนใจว่าในอนาคต จะยังมีบริษัทไหนพยายามทำ IPO ในต่างแดน โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตอีกรึเปล่า

ในสถานการณ์ที่รัฐบาลปักกิ่ง ดูจะเลือกเน้นความมั่นคง มากกว่าการเติบโตในต่างแดนอย่างในปัจจุบัน

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article

Cocuus : สเต็กเนื้อจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

Next Article
Tesla

นักวิเคราะห์คาด Tesla ปล่อยแฮทช์แบ็กรุ่นประหยัด ปี 2023

Related Posts