ทำไมบางคนถึงทำเหมือนว่าชีวิตนี้จะไม่ยอมขอโทษใคร ต่อให้มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นคนผิด?
เรื่องนี้ กาย วินช์ (Guy Winch) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่ขึ้นเวที Ted Talk มาหลายครั้ง รวมแล้วกว่า 20 ล้านวิว มีคำตอบ
วินช์ บอกว่าโดยทั่วไป ทุกคนหรือแม้แต่ตัวเขาเองก็เผลอไม่ยอมรับผิดหรือขอโทษทั้งนั้น ขึ้นกับ 2 ปัจจัย ระหว่าง
1) เราไม่ได้แคร์อีกฝ่ายมากพอ ที่จะแบกรับความไม่สบายใจในการยอมรับผิด และขอโทษ หรือ 2) คิดว่าขอโทษก็ไปเท่านั้น
เขายกตัวอย่างว่า คุณอาจจะเหวี่ยงใส่เพื่อนร่วมงาน ที่เข้ามาขัดจังหวะตอนกำลังปั่นงานด่วนให้ทันเดดไลน์ ต่อให้รู้ว่าอีกฝ่ายไม่พอใจ คุณก็อาจจะไม่ขอโทษก็ได้ ถ้าคิดว่ามันไม่ได้ส่งผลอะไรกับความสัมพันธ์
แต่มันจะมีคนอีกประเภทที่ไม่เคยยอมรับผิดซักครั้ง ไม่ว่าจะเรื่องไหน?
สำหรับคนพวกนี้ การจะให้ยอมรับว่าตัวเองทำผิดและขอโทษ มันทำให้เขารู้สึกว่าตัวตนข้างในกำลังถูกคุกคาม
ภายนอก คนพวกนี้ดูแข็งกร้าว แต่ลึก ๆ ข้างในแล้ว เปราะบางถึงขนาดไม่กล้ายอมรับความผิด จนกลไกป้องกันตัวในจิตใต้สำนึกเริ่มทำงาน
พอกลไกนี้เริ่มทำงาน เราถึงเห็นการโบ้ยความผิด บิดเบือนข้อมูล หรือความจริงตรงหน้า เพื่อจะได้รู้สึกว่า “ไม่ต้องลดตัวเองลง” เพื่อกล่าวคำขอโทษ
พฤติกรรมแบบนี้เอง ที่ทำให้คนเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมากขึ้นกว่าเดิม
ก้าวร้าวไม่ใช่เข้มแข็ง
ปัญหาคือหลายคน มักตีความผิดไปว่ากลไกป้องกันตัวแบบนี้ บ่งบอกว่าตัวเองเป็นคนที่จิตใจเข้มแข็ง
จริง ๆ แล้ว คนพวกนี้ไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่แสดงออก ตรงกันข้ามคือเปราะบางมาก ๆ ด้วยซ้ำ เพราะในทางจิตวิทยา การยอมรับผิดเป็นการสั่นคลอนอารมณ์ของเรา และทำให้ตัวตนรู้สึกเจ็บปวด
การจะทำแบบนั้นได้ ตัวตนภายในจึงต้องแข็งแรงพอ ที่จะแบกรับความเจ็บปวดนั้น แปลว่าถ้าตัวตนข้างในของเรามั่นคงและแข็งแรงพอ เราจะทนต่อความหวั่นไหวนั้นได้
กลับกัน ถ้าเราไม่มั่นคงพอ เพียงแค่เรื่องเล็กน้อย ก็กระทบกับจิตใจแล้ว
ซึ่งกฎของกลไกการป้องกันตัวคือ ยิ่งแสดงออกถึงความเกรี้ยวกราดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสื่อว่าข้างในของเราบอบบางมากเท่านั้น
ทำยังไงเมื่อต้องเผชิญหน้าคนแบบนี้
ความผิดพลาดที่เรา ๆ มักทำกัน เมื่อเจอกับคนลักษณะนี้ คือปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ และพยายามจะเอาชนะ (เพราะเราเป็นฝ่ายถูก)
แต่ความจริง คือเราไม่มีทางเถียงชนะคนพวกนี้ได้ ไม่ว่าจะหยิบยกเหตุผลที่อีกฝ่ายไม่มีทางแก้ต่างได้มาใช้ก็ตาม
เพราะคนพวกนี้จะไม่รับฟัง เขาอาจเบี่ยงเบนประเด็นไปที่เรื่องอื่น หรือหันมาโจมตีเราแทน
ในสถานการณ์แบบนี้ วิธีที่ดีที่สุด คือถอนตัวจากการโต้เถียงที่ไม่เกิดประโยชน์ (unproductive) แทนที่จะปล่อยให้ยืดยาว และลุกลามไปสู่เรื่องอื่น
จนเมื่อฝ่ายนั้นเย็นลง และไม่รู้สึกว่าตัวตนภายในถูกคุกคาม ค่อยสังเกตว่าเขาแสดงออกว่าสำนึกผิดบ้างรึเปล่า เช่น กลับมาชวนคุย หรือทำดีกับเรา
นี่คือปฏิกิริยาที่คนเหล่านี้แสดงออกจากจิตใต้สำนึก ว่าต้องการคืนดีกับเรา โดยไม่กระทบกับตัวตนข้างในที่เปราะบางของตัวเอง
ถัดมาคือถ้าคนเหล่านี้ ไม่ได้เป็นคนสำคัญในชีวิตคุณ เช่น คนในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน ให้หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์เท่าที่จะทำได้
แต่ถ้าเป็นคนใกล้ชิด ทางเดียวที่พอจะทำได้ คือคือฝึกตัวเองให้ระงับอารมณ์โกรธ เลี่ยงการปะทะหรือโต้เถียง
เพราะเขาเป็นคนแบบนี้ คืออ่อนแอเกินกว่าจะยอมรับผิด และไม่มีทางเปลี่ยนแปลง
เรียบเรียงจาก
We all know people who just can’t apologize — well, here’s why
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า