DYL Panel

เก็บตก DYL Panel : ออกแบบชีวิตในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว มีงาน webinar งานนึงที่น่าสนใจมาก ๆ คือ DYL Panel : Surviving the World of Uncertainty ‘ออกแบบชีวิตในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน’

เพราะนอกจากจะพูดถึงการปรับตัวในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว

พาเนลนี้ยังได้ บิล เบอร์เนตต์ ผู้ริเริ่มหลักสูตร Designing Your life และเจ้าของหนังสือ “คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking” (Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life)

มาร่วมพูดคุยกับ ดร. ธนัย ชรินทร์สาร ที่ปรึกษาและวิทยากรด้านกลยุทธ์ และ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เจ้าของเพจการตลาด เกตุวดี Marumura โดยมี ดร.เพิ่มสิทธิ์ นำประสิทธิผล เจ้าของเพจ Modular Consult เป็นโมเดอเรเตอร์

ทีมงาน AHEAD ASIA ก็มีโอกาสได้ไปร่วมฟังในพาเนลนี้ด้วย เลยอยากจะสรุปข้อคิดที่เป็นประโยชน์มาให้อ่านกันครับ

 

เลิกรอแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวคุณเอง : บิล เบอร์เนตต์

บิล เริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปทวนถึงช่วงแรกของการระบาด ที่ค่อย ๆ ขยายผลกระทบจากหน้าที่การงานของเราทุกคน ไปถึงด้านอื่น ๆ ของชีวิต และเรียกว่าเป็น Big Disruption ที่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลก

คำถามจากบิล คือเมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้น เรารับมือกับมันอย่างไร ในเมื่อเรื่องนี้ อยู่นอกเหนือจากแผนที่เราวางไว้

คนส่วนใหญ่ก็คงใช้ชีวิตในช่วงปีกว่า ๆ มานี้ รอเพื่อให้อะไร ๆ ดีขึ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ก็เห็นแล้วว่ามันไม่ได้สิ้นสุดในเวลาสั้น ๆ (จนถึงตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะไปจบตอนไหน) จนแทบจะเปลี่ยนชีวิตของคนทั้งโลกไปเลย

ตรงนี้ บิล ใช้คำว่า waiting room เหมือนเวลาเรารอรถไฟขบวนต่อไป ที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ ซึ่งยิ่งรอนาน ก็ยิ่งเครียด

ก่อนจะยกสิ่งที่ เดฟ อีแวนส์ ผู้ร่วมเขียน Designing Your Life กับเขา มักจะพูดเสมอ ๆ ขึ้นมาเสริม ว่า ตราบใดที่เรายังไม่ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

คำแนะนำจาก บิล คือแทนที่จะนั่งรอเฉย ๆ ให้ชีวิตเราเกิดความเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ควรทำ คือปรับความคิดของตัวเอง (บิล ใช้คำว่า reframe) ยอมรับความจริง ว่าความไม่แน่นอนนี้จะอยู่กับเราไปอีกระยะ และเริ่มคิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น

การออกแบบชีวิตตัวเองใหม่นั้น บิล ไม่ได้บอกว่าเราจะต้องเปลี่ยนทุกอย่าง

แต่ให้เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อน (set the bar low)

คือเมื่อเรายอมรับสถานการณ์ และเริ่ม reframe ตัวเองแล้ว การออกแบบชีวิตจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ถัดมาคือการทำ prototype ซึ่งอาจเป็นการทดลองทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อค้นพบทางเลือกอื่น ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

แต่อย่าทุ่มสุดตัว เพราะคุณอาจต้องทุ่มเททุกอย่างที่มี ซึ่งไม่เหมาะในสถานการณ์แบบนี้

อีกเรื่องที่ บิล แนะนำ คืออย่าจำศีลหรือหมกตัวเองอยู่คนเดียว เพราะในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนแบบนี้ การตัดขาดจากคนอื่น จะไม่เป็นผลดีกับสุขภาพจิตของคุณ

แต่การได้อยู่ใกล้กับสมาชิกในครอบครัว จะเป็นแรงผลักดันให้คุณพร้อมจะเดินหน้าต่อในเวลาที่เต็มไปด้วยควาไม่แน่นอนแบบนี้

 

การกระทำคือตัวกำหนดอนาคตของเรา : ดร. ธนัย ชรินทร์สาร

 

อ.ธนัย มองว่าการที่แผนซึ่งเราวางไว้ ไม่ได้ผลในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ได้แปลว่าเป็นเรื่องแย่เสมอไป

ในมุมของ อ.ธนัย การวางแผน คือเพื่อสร้างอนาคตของเราที่ดีกว่า “เมื่อเทียบกับคนอื่น” ยิ่งในวิกฤตแบบนี้ อย่างน้อยการอยู่รอดก็เป็นสิ่งสำคัญ

และเมื่อแผนที่วางไว้ไม่เวิร์ค ควรทำยังไง ก็คงมีทางเลือกแค่สองแบบ คือทำตัวเหมือนหมีจำศีล รอให้ผ่านไป ประเด็นคือถ้าฤดูหนาวปีนั้นยาวนานกว่าอาหารที่สะสมไว้ หมีอาจจะไม่รอดก็ได้

วิธีที่สองคือเปลี่ยนมุมมองอย่างที่ บิล บอก แต่ในฐานะนักกลยุทธ์ ก็พยายามทำให้ผลประกอบการออกมาดึกว่าเดิมให้ได้

ส่งที่ อ.ธนัย ต้องการสื่อ คือถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติ โอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบเป็นรูปธรรมจริง ๆ เกิดขึ้นยากมาก

เพราะบริษัทที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ส่วนใหญ่จะคว้าโอกาสจากความไม่แน่นอน

เหมือน เจฟฟ์ เบโซส ที่มองเห็นโอกาสจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากตอนช่วงกลางยุค 90 และคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่ามันทำอะไรได้บ้าง

แต่ เบโซส ก็ใช้มันเปลี่ยนโมเดลธุรกิจค้าปลีกจากเมลออเดอร์ เป็นอีคอมเมิร์ซ ด้วย Amazon

เพราะคนส่วนใหญ่ศึกษาเรื่องเทรนด์ เพียงแค่จะไม่ได้ตกกระแส

แต่สิ่งที่ เบโซส ทำ คือใช้เทรนด์นั้นให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง

 

อยู่รอด ประคองตัว และ เติบโต กลยุทธ์3ช่วงในภาวะวิกฤต

เมื่อพูดถึงการออกแบบธุรกิจ ในสถานการณ์แบบนี้ที่ซับซ้อนกว่าปกติ

คำแนะนำของ อ.ธนัย คือต้องแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ อยู่รอด ประคองตัว และเติบโต

ในช่วงแรก สิ่งสำคัญสุดคือทำยังไง ธุรกิจถึงจะอยู่รอด

ตรงนี้ อ.ธนัย มองว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะองค์ประกอบต่างกัน และสำคัญสุด คือไม่ได้อยู่ที่ใครมีมากมีน้อย แต่ใครอยู่ได้นานกว่ากัน

รายย่อย สายป่านอาจจะสั้น แต่ burn rate ก็ต่ำกว่า สินทรัพย์น้อย พนักงานน้อย คือทำอย่างไรก็ได้ให้มีเงินสดไว้เป็นอันดับแรก

ถัดมาคือเข้าสู่ช่วงที่สอง คือประคองตัวให้เกิดความมั่นคง (stabilize) ก่อน

คำแนะนำจาก คือในสถานการณ์แบบนี้ ให้มองเผื่อ worst case ไว้ก่อนว่า พรุ่งนี้จะแย่กว่าวันนี้

การรักษาสมดุลระหว่างเงินเข้ากับเงินออกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งถ้าทำได้ ต่อให้วิกฤตนี้ลากยาวไปแค่ไหน ธุรกิจก็อยู่รอดได้

ส่วนเครื่องมือที่ใช้ ก็แล้วแต่สถานการณ์ เช่น เมื่อคนลาออก แทนที่จะจ้างพนักงาน full time ใหม่ ก็เปลี่ยนเป็น part time ที่จะช่วยลด fixed cost ได้

ส่วนการหารายได้เพิ่ม ก็เช่นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ประยุกต์จากของเดิม เหมือนที่ B.B.Q. Plaza ไปส่งให้ลูกค้าถึงบ้าน และเก็บกระทะกลับให้ด้วย พูดง่าย ๆ คืออะไรทำได้ ก็ต้องทำ ขอให้มีเงินสดไหลเข้า

เมื่ออยู่ตัวจากสองข้อแรกแล้ว ต่อไปคือขั้นที่ 3 ดีไซน์เพื่อการเติบโต หามุมมองที่จะช่วยให้เราขยับขยายธุรกิจในอนาคตได้

เช่น ธุรกิจโรงแรมปัจจุบัน ถ้าลงถึงจุดต่ำสุดแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องขึ้น นักท่องเที่ยวที่หายไปก็ต้องกลับมา

โรงแรมที่ประคองตัวได้ตามสองข้อแรก ตอนนี้ก็อาจจะเริ่มรีโนเวทตัวเอง เพื่อให้พร้อมสำหรับตอนเปิดรับนักท่องเที่ยว

เมื่อถึงตอนนั้น โรงแรมที่เตรียมพร้อมไว้ ก็จะเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยว เพราะซัพพลายน้อยกว่าดีมานด์

 

พร้อมรับความไม่แน่นอนแบบคนญี่ปุ่น : ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ

 

ในสถานการณ์แบบนี้ ดร.กฤตินี เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า mindset ของคนไทยกับญี่ปุ่นนั้นต่างกัน

คือคนญี่ปุ่น ถูกหลอมให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน เพราะเป็นประเทศที่อาจเจอปัญหาได้ตลอด ทั้ง แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือสึนามี

ทำให้คนญี่ปุ่นรู้จักปรับตัวเพื่อรับมือปัญหาเหล่านี้ ผ่านการจดสถิติ หามาตรการป้องกันด้วยแนวทางต่าง ๆ

เช่น สร้างบ้านที่รับแผ่นดินไหว หรือจำลองสถานการณ์ว่า ถ้าเกิดแผ่นดินไหว ขบวนรถไฟต้องทำยังไง ฯลฯ เมื่อ worst case situation อย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

ขณะที่คนไทยเราจะแก้ปัญหาอีกแบบ คือเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

อย่างพอน้ำท่วม ก็จะก่อกำแพงเล็ก ๆ กันไม่ให้น้ำเข้าบ้าน พอน้ำลงก็พังกำแพง แล้วกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ พอปัญหาวนลูปกลับมา ก็ทำแบบเดิม

 

หาความหมายของการทำงานให้กับตัวเอง

ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายคนที่กำลังรู้สึกท้อหรือหมดไฟในการทำงาน

คำแนะนำจาก ดร.กฤตินี คือการกลับไปทบทวนว่า “อิคิไก” หรือเป้าหมายในการทำงานของเราคืออะไร

แทนที่จะโฟกัสไปยังเรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว สิ่งที่เราต้องถามตัวเองคือ เราจะมีความสุขในการทำให้คนอื่นมีความสุข ได้ยังไงบ้าง

เหมือนร้านราเมงที่ตั้งใจต้มน้ำซุป หรือปั้นเส้นเอง เพราะขอเพียงแค่เห็นลูกค้ามาทานแล้วยกชามขึ้นซดน้ำซุป ก็คือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้าคิดเฉพาะเรื่องผลกำไรแล้ว การคำนวณจากเวลาหรือแรงที่ลงไปอาจจะไม่คุ้ม

แต่ถ้าเราคิดได้แบบนี้ มันจะเปลี่ยนเป็นพลังให้เราทำงานได้ต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับการคิดเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว

การรักษาเป้าหมายในการทำงานนี่เองที่บางครั้งทำให้คนอื่นเห็นคุณค่าของเรา และยิ่งเราช่วยเหลือคนอื่นมากเท่าไหร่ เครือข่ายของเราก็จะยิ่งขยายออกไปเรื่อย ๆ ด้วย

 

ขอบคุณทาง Modular Consulting อีกครั้งครับ สำหรับ webinar ดี ๆ ที่เป็นประโยชน์แบบนี้

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Altos Labs

Altos Labs สตาร์ทอัพรวมสุดยอดนักวิจัยด้านโรคชรา สนับสนุนโดย เจฟฟ์ เบโซส

Next Article
Carousell

รู้จัก Carousell ยูนิคอร์นตัวล่าสุดแห่งอาเซียน พลิกตลาดมือสองด้วยความง่าย

Related Posts