Carousell ออนไลน์มาร์เก็ตเพลส ระหว่างผู้บริโภค (C2C) จากสิงคโปร์ ขึ้นชั้นเป็นยูนิคอร์นตัวล่าสุดของอาเซียนแล้ว หลังมูลค่าล่าสุดแตะหลัก 1,100 ล้านดอลลาร์ (36,000 ล้านบาท) จากการระดมทุนครั้งล่าสุด
แรงบันดาลใจจากฮีโร่
จุดเริ่มต้นของ Carousell ต้องย้อนกลับไปในปี 2012 เมื่อเพื่อนนักศึกษาชาวสิงคโปร์ 3 คน คือ ซิว หรุ่ย เควก (Quek Siu Rui) มาร์คัส แทน (Marcus Tan) และ ลูคัส หงู่ (Lucas Ngoo) พบว่าการขายของมือสองบนแพลตฟอร์มในยุคนั้น ยุ่งยาก และไม่ทันใจ
ทั้งหมดเคยเดินทางไปฝึกงานที่บริษัทแห่งหนึ่งในซิลิคอน วัลลีย์ และมี แจ็ค ดอร์ซีย์ (Twitter) มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Facebook) และ ดรูว์ ฮุสตัน (Dropbox) เป็นฮีโร่ จึงเกิดไอเดียที่จะใช้เทคโนโลยี มาช่วยแก้ปัญหานี้ ด้วยการตั้งเป้าที่จะกระตุ้นทุกคนบนโลกให้ซื้อและขายสินค้ากันมากขึ้น
จนเป็นที่มาของมาร์เก็ตเพลส เพื่อให้ผู้ใช้สามารถซื้อขายสินค้ากันได้โดยตรง เพียงแค่อัพโหลดรูป และลงรายละเอียดของสินค้า
สร้างความแตกต่างให้ความเหมือน
จริง ๆ มาร์เก็ตเพลสสำหรับสินค้ามือสอง ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ในเมื่อมี eBay อยู่แล้ว จุดที่ทำให้ Carousell แตกต่าง คือการเริ่มต้นโดยเน้นประสบการณ์ผู้ใช้ (UX) สองเรื่อง
หนึ่งคือ mobile-first เข้าใจยูสเซอร์ที่ใช้งานจากสมาร์ทโฟนเป็นหลัก และสองคือ Souteast Asia-centric คือเข้าใจพฤติกรรมกลุ่มผู้บริโภคในย่านนี้
คอนเซปต์หลักของ Carousell จึงเน้นที่ Snap to sell และ Chat to buy
คือการถ่ายและอัพโหลดสำหรับผู้ขาย และติดต่อพูดคุยเพื่อขอซื้อ
การทำให้ประสบการณ์ใช้งานเป็นเรื่องง่าย คือเหตุผลที่ Carousell ค่อย ๆ เติบโตจากกลุ่มเล็ก ๆ อย่างอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ จนต่อยอดไปสู่สินค้าอื่น ๆ เช่น เสื้อฟ้า รถยนต์ ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การรับสมัครงาน
อีกองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ UX ของ Carousell ราบรื่นขึ้น คือการพัฒนา AI เพื่อช่วยเร่งกระบวนการขาย เช่น ระบบจดจำภาพ ที่ช่วยระบุประเภทสินค้าบนแพลตฟอร์มได้เมื่อคุณอัพโหลดรูปลงไป ซึ่ง เควก คุยว่าทุกวันนี้ ใช้เวลาเพียง 3 วินาทีเท่านั้น เมื่อเทียบกับ 30 วินาทีในช่วงเริ่มต้น
AHEAD TAKEAWAY
จากทุนเริ่มต้นเพียง 35,000 ดอลลาร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย
ทั้งหมดใช้เวลาแค่สามวัน ติดเทรนด์แอปพลิเคชันกลุ่มไลฟ์สไตล์ในสิงคโปร์ จนได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากบิ๊กเนม อย่าง Rakuten หรือ 500 Startups
และขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, ฮ่องกง, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และ ไต้หวัน (ใน Google Store ไทย มีให้อัพโหลดแอปแล้ว แต่ไม่มีประเทศไทยให้เลือก)
ในการระดมทุนครั้งล่าสุด จาก STIC Investments ของเกาหลีใต้ Carousell ก็กลายเป็นยูนิคอร์นตัวล่าสุดของภูมิภาคนี้
ขณะที่ Bloomberg ก็อ้างแหล่งข่าวว่าบริษัทฯ มีแผนจะเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผ่านการควบรวมกับอีกบริษัทที่ยังไม่เปิดเผยชื่อด้วย
และเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจว่า ถ้าระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในประเทศ พร้อมให้การสนับสนุนไอเดียสดใหม่แบบจริงจัง การสร้างยูนิคอร์นให้เกิดขึ้นก็มีความเป็นไปได้
เรียบเรียงจาก
Southeast Asia’s online marketplace is now a ‘unicorn’ valued at $1.1 billion
How 3 friends turned their unwanted items into a $550 million business
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า