ธุรกิจค้าปลีก ปี 2022

5 เทรนด์เทคโนโลยีสำคัญในธุรกิจค้าปลีก ปี 2022

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งใหญ่ของทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก เมื่อเราถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว จากผลกระทบของโควิด-19

และในปี 2022 นี้ เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง การแข่งขันบนเส้นทางใหม่ ที่เข้มข้นกว่าเดิม เปลี่ยนแปลงและเติบโตก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว

การรู้เท่าทันเทรนด์เทคโนโลยีที่เริ่มก่อตัวขึ้น และจะเป็นกระแสหลักในอีกไม่ช้า จึงเป็นเรื่องสำคัญ

และนี่คือ 5 เทรนด์เทคโนโลยีสำคัญสำหรับธุรกิจค้าปลีก ในมุมของ เบอร์นาร์ด มาร์ (@bernardmarr) ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ และนักเขียนระดับเบสต์เซลเลอร์

 

ค้าปลีกไร้แคชเชียร์

 

ในเวลาสั้น ๆ พฤติกรรมผู้บริโภคแบบเดิมถูกเปลี่ยนให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดแบบเต็มตัว

และอีกไม่ช้า แม้แต่ในร้านค้าปลีก ก็จะไม่มีแคชเชียร์คอยเก็บเงินอีกต่อไป

เทรนด์นี้เริ่มก่อตัวขึ้นช้า ๆ ตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีก่อน นำโดย Amazon Go ร้านสะดวกซื้อไร้แคชเชียร์ของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ โดยผสมผสานเทคโนโลยีหลาย ๆ รูปแบบเข้าด้วยกัน

(อ่านเพิ่มเติม https://wp.me/p8iuQz-1Hn)

ทั้ง ระบบรู้จำใบหน้า กล้องวิดีโอ และเซนเซอร์ IoT เพื่อติดตามพฤติกรรมลูกค้า ตั้งแต่เดินเข้าร้าน หยิบสินค้าจากชั้นวาง ใส่ถุง และตัดยอดจากบัตรเครดิตแบบอัตโนมัติเมื่อออกจากร้าน

ที่ผ่านมา อาจจะมี Use case ให้เห็นไม่มาก แต่ในปี 2022 นี้ เราจะเริ่มเห็นเชนยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศอย่าง Tesco หรือ Aldi นำมาใช้มากขึ้นแล้ว

ประเด็นที่มาพร้อมกับเทรนด์นี้ คือความเป็นไปได้ที่งานของมนุษย์จะถูกทดแทนโดยเครื่องจักรมากขึ้น

ตามรายงานจาก McKinsey ประเมินว่าธุรกิจสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 20-30% เมื่อใช้ระบบอัตโนมัติแทนพนักงานหนึ่งคน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจที่สูงมาก

แม้หลายองค์กรจะพยายามให้เหตุผลว่าการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ ก็เพื่อให้พนักงานสามารถไปทำงานที่มีคุณค่าและสำคัญกว่าได้มากขึ้น

แต่นั่นก็แปลว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ตัวบริษัทฯ ไปจนถึงหน่วยงานรัฐ ต้องร่วมมือกันหาทางออกที่เหมาะสมให้กับเรื่องเหล่านี้ด้วย ก่อนที่ปัญหามนุษย์ถูกเครื่องจักรแย่งงาน จะลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต

 

ประสบการณ์ที่แตกต่าง

ในยุคแรก การแข่งขันทางธุรกิจจะเน้นหนักที่คุณภาพของสินค้าและราคาเป็นหลัก ก่อนที่ปัจจัยอื่นจะถูกเพิ่มขึ้นมา

ตั้งแต่ บริการหลังการขาย ความง่ายในการเข้าถึง ความสะดวกในการใช้งาน ความรู้ความเข้าใจของพนักงาน เรื่อยไปถึงรายละเอียดปลีกย่อย อย่าง การตกแต่งหน้าร้าน หรือแม้แต่ดีไซน์ของตัวเว็บไซต์

การทำความเข้าใจบทบาทของปัจจัยเหล่านี้ ว่าส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างไร และจะทำอย่างไร เพื่อใช้ปัจจัยเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยแนวทางต่าง ๆ กัน

เช่น ในร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม พนักงานขายอาจมีอุปกรณ์คอยให้ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับลูกค้าในร้าน เพื่อเข้าใจความต้องการเฉพาะบุคคล และสามารถแนะนำสินค้าที่เหมาะกับคน ๆ นั้นได้ (personalization)

หรือในอนาคต เมื่อเราเข้าสู่ยุคเมตาเวิร์สแบบเต็มตัว การทดลองหรือสาธิตสินค้าก็อาจเปลี่ยนไปอยู่ในโลกเสมือน ที่ต้องใช้เทคโนโลยี AR หรือ VR เป็นตัวช่วย

ที่ผ่านมา เทรนด์ดังกล่าวก็เริ่มถูกนำมาใช้บ้างแล้ว เช่น MAC Cosmetics ที่ใช้จอภาพขนาดใหญ่ ให้ลูกค้าเลือกโทนสีลิปสติกและเมคอัพต่างๆ และแสดงผลผ่าน Augmented Reality ซึ่งสามารถเซลฟี่เก็บไว้ดู หรือแชร์ให้คนอื่นๆได้ด้วย

(อ่านเพิ่มเติม https://wp.me/p8iuQz-56X)

 

หุ่นยนต์ส่งสินค้าอัตโนมัติ

ในธุรกิจโลจิสติกส์ การส่งสินค้าในระยะสุดท้ายให้ถึงมือลูกค้า คือขั้นตอนที่ยุ่งยากและมีราคาแพงที่สุดในกระบวนการทั้งหมด

ระยะหลัง เราถึงได้เห็นผู้ค้าปลีกหรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซพยายามนำระบบอัตโนมัติมาใช้แก้ปัญหานี้

หนึ่งในสตาร์ทอัพที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มานานแล้ว คือ Starship Technologies จากเอสโตเนีย ซึ่งพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับส่งสินค้าในระยะสุดท้าย (last mile) พร้อมประกาศว่าทำสถิติไปแล้วกว่า 1.6 ล้านชิ้น นับตั้งแต่ปี 2016

ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon.com ก็พัฒนาการส่งสินค้าด้วยโดรนมาตั้งแต่ปี 2018 และเริ่มทดลองใช้ในบางพื้นที่แล้ว ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย

และยังมีผู้เล่นรายอื่น ๆ อาทิ Wing ของ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) ซึ่งประกาศว่าส่งกาแฟให้ลูกค้าโดยไม่หกเลอะเทอะหรือเกิดอุบัติเหตุมาแล้วกว่า 1 หมื่นแก้ว

เช่นเดียวกับ Segway ที่จับมือกับ Coco ในการพัฒนายานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับธุรกิจส่งอาหาร ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต

(อ่านเพิ่มเติม UPS นำร่องใช้รถไร้คนขับส่งพัสดุในแอริโซนา)

 

ออมนิแชนแนล คอมเมิร์ซ

ออมนิแชนแนล (Omnichannel) คือการติดต่อหรือเข้าถึงลูกค้าผ่านหลากหลายช่องทาง ซึ่งผสมผสานกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และเป็นแนวทางหลักที่ธุรกิจจำนวนมากนำมาใช้ในปัจจุบัน

เช่น เมื่อลูกค้าเลื่อนไปเห็นสินค้าที่ถูกใจใน Instagram ก็อาจคลิกที่ภาพเพื่อนำไปสู่เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เพื่อซื้อสินค้า และอาจได้รับข้อความยืนยันสถานะสั่งซื้อใน Facebook Messenger สำหรับนำไปแสดงที่สาขาใกล้ ๆ เพื่อรับสินค้า

การผสมผสานประสบการณ์ในช่องทางที่แตกต่างให้ราบรื่น ไม่ติดขัด คือหัวใจของเทรนด์นี้

โซเชียลมีเดียจะกลายเป็นช่องทางหลักสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่สำหรับสร้างการรับรู้ แต่ยังต้องสามารถปิดการขายให้ได้บนแพลตฟอร์ม

ซึ่งนอกจากจะต้องอาศัยพลังของอินฟลูเอนเซอร์แล้ว ปัจจัยที่เชื่อมโยงกันอย่าง การออกแบบ UI ที่จะนำไปสู่การซื้อ ระบบต่าง ๆ ทั้งการทำธุรกรรม ไปจนถึงระบบคลังสินค้า ก็ต้องผสานกันอย่างดีด้วย

 

ซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่น

 

ในระยะหลัง เราจะเห็นการปรับตัวของยูนิตต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และรวดเร็ว

ไม่ว่าจะการถูกดิสรัปท์ของธุรกิจเดิม ๆ หรือแม้แต่การขาดแคลนวัตถุดิบหรือสินค้าที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา

และในอนาคตอันใกล้ สองเทคโนโลยีสำคัญอย่าง AI และบล็อกเชน จะถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพ และยืดหยุ่นพร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ตั้งแต่ต้นทางคือโรงงานผู้ผลิต ไปจนถึงปลายทางคือเมื่อสินค้าถึงมือผู้บริโภค

การเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันโดยที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ จะนำไปสู่ความยืดหยุ่นให้ห่วงโซ่ต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

เช่น การเพิ่มหรือลดการผลิตให้ใกล้เคียงกับดีมานด์ การปรับลดขนาดคลังสินค้าให้เล็กลง แต่กระจายไปอยู่ใกล้พื้นที่ขนส่งระยะสุดท้ายมากขึ้น ฯลฯ เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในกรณีที่ห่วงโซ่ใดห่วงโซ่หนึ่งเกิดปัญหา

 

เรียบเรียงจาก
The Five Biggest Retail Tech Trends In 2022

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
WHERE IS THE FUTURE OF FUTURE FOOD

WHERE IS THE FUTURE OF FUTURE FOOD ครั้งแรกในไทยกับประสบการณ์ "อนาคต" ของอาหาร

Next Article

Ubiquitous Energy สตาร์ทอัพกระจกโซลาร์กลาส เปลี่ยนตีกระฟ้าเป็นโซลาร์ฟาร์ม

Related Posts