iTAX ภาษี

คุยกับผู้ก่อตั้ง iTAX “เพราะภาษีควรจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน”

ต้นปีแบบนี้ เป็นช่วงเวลาของการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ถึงจะเป็นหน้าที่สำคัญที่ทุกคนซี่งมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องปฏิบัติ แต่กลับมี pain points หลายเรื่องทำให้มันเป็นเรื่องยาก สำหรับคนที่อยากทำให้ถูกต้อง

นั่นคือที่มาของ iTAX Thailand แพลตฟอร์มคำนวณและวางแผนภาษี ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะ

ทีมงาน AHEAD ASIA อยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับเครื่องมือนี้ให้มากขึ้น

ผ่านการพูดคุยกับ “อ.มิก” ผศ.ดร. ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร และผู้ก่อตั้ง iTAX กันครับ

1️⃣

แก้ปัญหาภาษีด้วยเทคโนโลยี

จุดเริ่มต้นของ iTAX ต้องย้อนกลับไปในช่วงที่ อ.มิก ได้ทุนจากคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม ไปเรียนต่อปริญญาโทและเอก ด้านภาษี ที่ Texas Southern University

และงานวิจัยที่เลือกทำในการเรียนต่อปริญญาเอก คือแนวทางป้องกันการเลี่ยงภาษี

“เพราะถ้าเราจะไปดักเค้า ก็ต้องคิดให้ได้แบบเค้า พอค้นข้อมูล ก็พบว่าในกลุ่มคนที่ทำภาษีไม่ถูก มันจะมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือรู้ว่าทำถูกยังไง แต่ไม่ทำ คือเจตนาทุจริต ส่วนกลุ่มที่สองคือทำไม่เป็น”

“ปัญหาคือกฎหมายทั้งโลก จะเหมารวมพวกนี้กับกลุ่มแรก ผมเลยมองว่ามันน่าจะมีวิธีทำให้คนไม่รู้ภาษีจัดการภาษีได้ถูกต้อง 100% โดยที่เค้าไม่ต้องมีความรู้ด้านนี้ก็ได้”

นั่นคือที่มาของไซด์โปรเจกต์ ที่ อ.มิก เกิดไอเดียที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อทำให้การยื่นภาษีง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ

2️⃣

สร้างฐานผู้ใช้แบบปากต่อปาก

ในยุคแรก เมื่อปี 2013 iTAX ถูกพัฒนาขึ้นในรูปเว็บไซต์ เพื่อกรอกข้อมูลแบบ Q&A ซึ่งจะค่อย ๆ แสดงสิทธิ์ลดหย่อนต่าง ๆ ที่ได้รับ จนจบขั้นตอนก็จะได้แบบฟอร์มสำหรับนำไปยื่นภาษีได้เลย

“คนก็จะรู้สึกว่ามันง่ายจัง เพราะตอนนั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน พอได้ลองปุ๊บ เค้าก็เลยบอกปากต่อปาก คนก็เริ่มมาใช้กัน”

แม้ในปีแรก iTAX จะมีฐานผู้ใช้งานแค่ประมาณ 1,500 คน

แต่ก็มากพอจะทำให้ อ.มิก เชื่อว่ามันมีตลาดของคนที่อยากทำให้การยื่นภาษีเป็นเรื่องถูกต้องอยู่ และตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อ

ผมว่าจังหวะพันคนแรกนี่สำคัญมาก ที่จะบอกว่าโปรดักต์เราอยู่หรือไป เพราะแสดงว่านอกจากเพื่อน ๆ เราเอง ก็แปลว่ามีคนอื่นที่เราไม่เคยเจอหน้าให้การยอมรับ”

“แสดงให้เห็นว่ามันเป็น pain ที่ใหญ่จริง”

3️⃣

อุดมคติVSโมเดลธุรกิจ

จุดเริ่มที่ทำให้ อ.มิก จริงจังกับ iTAX มากขึ้น คือการที่ผู้ร่วมก่อตั้งยุคแรกแยกย้ายไปคนละทาง

การฟอร์มทีมใหม่จึงต้องให้ความสำคัญกับโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้ตัวแพลตฟอร์มไปต่อได้

ผมไม่ได้หวังว่า iTAX จะต้องมีรายได้มหาศาล แค่อยากให้มันอยู่ได้ ก็เลยต้องมีโมเดลธุรกิจเข้ามา”

แต่ความอยู่รอดของบริษัท ก็ยังขัดกับอุดมคติส่วนตัวของ อ.มิก

ที่มองว่าการทำให้ภาษีเป็นเรื่องง่าย ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ จึงจะไม่มีการเก็บเงินเด็ดขาด

มันกลายเป็นว่าวิธีคิดที่ผมขอไม่เก็บเงินลูกค้าเลย ไม่ว่าจะเสียเงินโหลดแอป หรือจ่ายค่าบริการ มันทำให้ทีมที่ดูแลธุรกิจปวดหัว เพราะโจทย์มันยากมาก ซึ่งสุดท้ายก็ลงที่โฆษณา ซึ่งมัน Win-Win สำหรับทุกฝ่าย”

“ที่เราทำได้ เพราะผู้ใช้งานเรามีมากพอ และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง และกำลังมองหาวิธีลดหย่อนภาษี ซึ่งก็ตรงกับสถาบันการเงินที่มีโปรดักท์สำหรับคนกลุ่มนี้”
.
4️⃣

วัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนคือซีเนียร์

จาก 1,500 คนในปีแรก ปัจจุบัน iTAX มียูสเซอร์อยู่ราว 7 แสนคน ขณะที่ทีมทั้งหมดของบริษัทฯ รวมถึงพนักงานพาร์ทไทม์ และ อ.มิก ด้วย มีแค่ 9 คนเท่านั้น

ความน่าสนใจคือจะทำยังไง ให้คนไม่ถึงหลักสิบ ดูแลคนหลักหลายแสนคนได้

คำตอบแรกคือ เทคโนโลยี

ผมตั้งโจทย์แรกให้ โค้ดเป็นสิ่งที่ทำงานให้เรา ไม่ใช่ให้คนเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง เพราะคนของเราค่อนข้างน้อย ถ้ามีปัญหาแล้วต้องแก้ด้วยคน มันจะลำบาก”

พอเซตให้ระบบเป็นตัวขับเคลื่อน มันก็จะง่ายกว่าในการสเกล”

ถัดมาคือวัฒนธรรมองค์กรแบบ flat คือไม่มีลำดับชั้น ทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินใจในบทบาทของตัวเอง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวที่สุด

ผมถือว่าทุกคนเป็นซีเนียร์หมด ทุกคนรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร จุดเด่นที่สุดของเราคือความยืดหยุ่น และพอใช้คนน้อย การสื่อสารมันก็เลยจะไม่มีระดับชั้น”

“ทุกคนมีสิทธิ์พูดว่า ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ผมเน้นเสมอว่าไม่มีใครโดนไล่ออกเพราะพูดความจริง เพราะเวลาพูดความจริง มันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา”

“ตำแหน่งผมคือซีอีโอ แต่ผมจะไม่บอกพวกเขาว่าต้องทำอะไรบ้าง บอกแค่เป้าหมาย แล้วถ้าระหว่างทางมีปัญหาอะไรมาบอกกัน

บทบาทผมก็จะเหมือนลูกน้องแต่ละคน ที่ต้องสนับสนุนให้พวกเขาทำงานได้เต็มที่อีกที”

5️⃣

ภาษีที่ยังอยู่แต่ไม่เป็นภาระ

ภาพจบของ iTAX ในมุมของ อ.มิก คือการช่วยให้การจัดเก็บภาษีในบ้านเราครอบคลุมมากขึ้น แต่ไม่เป็นภาระของคนเสียภาษีอีกต่อไป

“ส่วนตัว ผมเชื่อว่าคนเสียภาษีคือฮีโร่ของประเทศ เพราะ 3 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดิน มาจากภาษีที่เราจ่ายไป ถ้ามันหายไป ประเทศพัง”

“นี่นับเฉพาะคนที่เข้าระบบนะ เพราะประเทศไทย ตัว informal economy น่าจะมีสัดส่วนประมาณ 3 ใน 4 เห็นจะได้

ถ้าในอนาคตผมพาคนเหล่านั้นมาอยู่ในระบบได้ ทุกคนจะเสียภาษีถูกลงมากกว่าเดิม”

แต่การที่ภาครัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น อ.มิก มองว่ามันควรเป็นกลไกแบบอัตโนมัติ ที่การจัดเก็บยังดำเนินอยู่ แบบครบถ้วนถูกต้อง แต่เราไม่ต้องไปยุ่งกับมันอีก

ถ้าทำได้ เราจะคืนเวลาจำนวนมากให้คนได้ไปทำอย่างอื่นที่ส่งผลต่อ GDP ของประเทศมากกว่า คือมันอาจจะอีกนาน เพราะที่เราทำมาเป็นสิบปีแล้ว มันยังไม่ถึง 10% ของที่ผมอยากได้ แต่อย่างน้อย มันก็เริ่มขยับไปทีละก้าวสองก้าวแล้ว ทั้งฟากของกรมสรรพากร และฟากที่ผมกำลังทำ”

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
แรบบิท แคร์

แรบบิท แคร์ จับมือ 70 บริษัทชั้นนำ สู่ผู้นำด้านประกันภัยและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

Next Article
Monkey Junior และ Monkey Stories

Monkey Junior และ Monkey Stories เคล็ดฝึกภาษาอังกฤษของยูทูบเบอร์คนดัง

Related Posts