ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทีมงาน AHEAD ASIA มีโอกาสได้ไปร่วมฟังงานแถลงข่าวโร้ดแมปของ mu Space Corp ในการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศเต็มรูปแบบ
โดยมีเป้าหมายที่การยกระดับไทยให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจของไทยและเพื่อนบ้าน
หลายคนพอได้ยินแบบนี้อาจเกิดคำถามในใจว่าเป็นไปได้แค่ไหน และเราพร้อมแค่ไหนที่จะไปถึงจุดนั้น
ในยุคที่เทคโนโลยีทั่วโลกเท่าทันกัน อวกาศจึงเขยิบเข้าใกล้ชีวิตเรามากกว่าที่คิด
เพราะทุกวันนี้ กิจการอวกาศไม่ได้ถูกจำกัดไว้ที่รัฐบาลของชาติมหาอำนาจอีก
เราถึงได้เห็นการเอาท์ซอร์สของ NASA ให้บริษัทเอกชน อย่าง SpaceX หรือ Boeing เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
สตาร์ทอัพของไทย mu Space ก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับ Blue Origin ในการทดสอบจรวด New Shepard เมื่อหลายปีก่อน
แต่คุณเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง ซีอีโอของ mu Space ก็ย้ำว่าการสร้างเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมอวกาศ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการสนับสนุนจากภาครัฐ
และหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญสำหรับเรื่องนี้ ก็คือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือGISTDA
ซึ่งมีส่วนผลักดันนโยบายรัฐบาลผ่าน(ร่าง) แผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2580) ที่จะเป็นแนวทางในการสร้าง Thailand Space Supply Chain สู่การเป็นอุตสาหกรรมอวกาศเต็มรูปแบบต่อไป
ในงานนี้เอง ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ก็ได้อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น ในหัวข้อ “ความร่วมมือของรัฐที่มีต่อ space supply chain ในประเทศไทย” ที่เราสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ไว้ในที่นี้แล้ว
เศรษฐกิจอวกาศ ( Space Economy ) คืออะไร? ทำไมเราต้องสนใจ
ก็คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง ที่อาศัยองค์ความรู้จากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งหลาย ๆ เรื่อง ก็เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว อย่างการสื่อสารและโทรคมนาคม หรือการพยากรณ์อากาศ ฯลฯ
แต่ในอนาคต บทบาทของเทคโนโลยีเหล่านี้จะใกล้ตัวเรามากขึ้น และเปิดโอกาสให้เราใช้กิจการอวกาศยกระดับสภาพเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
ดร.ปกรณ์ อธิบายว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ
หนึ่ง คือความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากการที่ธุรกิจทั่วโลกเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (digital transformation)
สอง ราคาในปัจจุบันของเทคโนโลยีนี้ถูกลง เปิดโอกาสให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยงานรัฐ หรือประเทศมหาอำนาจเสมอไป เหมือนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีเกาหลีใต้เป็นผู้นำในด้านนี้
และสาม เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเรื่องการสื่อสาร ดิจิทัล ฯลฯ มีความพร้อมกว่าที่ผ่านมา
ประเทศไทยกับเศรษฐกิจอวกาศ
ดร.ปกรณ์ ในฐานะ ผอ.GISTDA เล่าว่ารัฐบาลไทยก็เข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องนี้ดี ว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปและรู้ว่าช้าไม่ได้
การมองถึงการเดินทางไปดวงจันทร์ หรือดาวอังคาร อาจจะดูไกลเกินไป
แต่สิ่งที่เราทำได้ คือการสร้างชิ้นส่วนต่าง ๆ สำหรับดาวเทียม หรือเป็นผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เช่น บริการดาวเทียม หรือสถานีภาคพื้นดิน ฯลฯ
แต่โครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อผลักดันให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ คือการเป็น space port (ท่าอวกาศยาน)
เพราะจากการสำรวจ พื้นที่ของไทยติดอันดับท็อปเทน ของบริเวณที่เหมาะสำหรับการทำ space port เพื่อส่งดาวเทียมหรือจรวดสู่อวกาศ
ซึ่งในอนาคต ไม่ใช่แค่การส่งจรวดสู่อวกาศ ยังสามารถประยุกต์ไปใช้สำหรับการเดินทางข้ามทวีป ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าได้ด้วย
บทบาทของรัฐไทยในการสนับสนุน
เพื่อไปให้ถึงจุดนั้น ในช่วง 3-4 ปีหลัง มีการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เริ่มต้นไปแล้ว คือ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม AIT (Assembly Integration & Test Facility) ที่ศรีราชา
สถานที่ซึ่งใช้พัฒนาและทดสอบ ดาวเทียม THEOS-2 และ THEOS-2A ที่วิศวกรไทยมีส่วนร่วมออกแบบและสร้างและมีกำหนดปล่อยสู่อวกาศในปีหน้า
AIT คือหนึ่งในหลักฐานสนับสนุนความจริงจังของภาครัฐ เพราะปัจจุบัน มีศูนย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติในเอเชีย ไม่เกิน 4 แห่ง
แต่เมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ที่มีศูนย์สำหรับสร้างและทดสอบดาวเทียมแบบเดียวกัน คือไทยได้เปรียบในเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่า
นอกจากศูนย์ AIT แล้ว ในภาพกว้าง ไทยก็ยังต้องมีความพร้อมในด้านอื่น ๆ ด้วย
นั่นคือที่มาของแผนแม่บทกิจการอวกาศ ที่กำลังจะเข้าคณะครม. ภายในเดือนกันยายน
ในแผนแม่บทที่ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี แบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 8 ด้าน ใน 4 ช่วงเวลา (เร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว)
ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องความมั่นคง ความยั่งยืน ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ นวัตกรรม การสร้างคน ความร่วมมือต่างประเทศ ฯลฯ
อีกเรื่องที่ควบคู่กันไปคือ พรบ.กิจการอวกาศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริม และกำกับไม่ให้ไทยถูกเอาเปรียบจากนานาชาติ ในการทำธุรกิจด้านนี้
ซึ่งปัจจุบันผ่านครม. แล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะพร้อมบังคับใช้ได้ในอีก 1-2 ปี
ปัจจุบัน ธุรกิจอวกาศกำลังเติบโตต่อเนื่อง มีบทวิเคราะห์ประเมินมูลค่าอุตสาหกรรมนี้ ว่าจะเติบโตจาก 3,100 ล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน ไปถึงระดับ 7,400 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2026
และความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน เพื่อยกระดับไทยให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาค
จะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญไปสู่เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง เศรษฐกิจ, การศึกษา, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี, การสร้างอาชีพและการจ้างงาน
ทำให้อวกาศไม่เป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า