ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็นตัวเลือกที่นักลงทุนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจอย่างล้นหลามในอัตราที่เติบโตแบบก้าวกระโดด
และกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึง บนเวทีในงานคอนเฟอเรนซ์ด้านการลงทุน Schroders Thailand Investment Conference 2022 เมื่อเร็ว ๆ นี้
ในหัวข้อ “สินทรัพย์ดิจิทัลนั้น มีประโยชน์ต่อพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนทุกรายจริงหรือ?”
ระหว่าง มร.เบลค เชฟเฟิร์ด (Blake Shefford) ผู้จัดการกองทุนสินทรัพย์ผสมของ Schroders คุณชลเดช เขมะรัตนา ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย และมี มร.เธรอน แลม (Theron Lam) หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Schroders เป็นผู้ดำเนินรายการ
“ผู้สนใจลงทุนด้านนี้จะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการลงทุนผ่านธุรกิจที่เกี่ยวข้อง”
มร. เชฟเฟิร์ด มองว่า จำนวนผู้สนใจลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี จะยังเพิ่มขึ้น แต่ความผันผวนก็จะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป
ในมุมของ มร.เชฟเฟิร์ด การลงทุนส่วนใหญ่ น่าจะทำผ่านบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล มากกว่าการลงทุนในโทเค็นและเหรียญคริปโตโดยตรง
ปัจจุบันในตลาดหลักทรัพย์ มีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีตั้งแต่ธนาคาร การให้กู้ยืมเงินคริปโต ไปจนถึงผู้ดูแลหรือที่ปรึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ
แม้แต่บริษัทแบบดั้งเดิมหลาย ๆ แห่ง ก็อยากมีส่วนร่วมในสินทรัพย์ประเภทนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
มร. เชฟเฟิร์ด เสริมว่าในอนาคตอันใกล้ ยังมีพื้นที่สำหรับการเติบโตของระบบนิเวศด้านต่าง ๆ เช่นกลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการซื้อขายนอกตลาด ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะการแปลงสินทรัพย์นอกตลาดให้อยู่ในรูปแบบโทเค็น เช่น ทุนธรรมชาติ (natural capital)
“กฎระเบียบควบคุมจะช่วยสร้างสมดุลและความมั่นคง”
ด้านคุณชลเดช เขมะรัตนา ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย เสริมว่า การที่หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแล และออกกฎระเบียบควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัล จะช่วยสร้างสมดุลและความมั่นคงให้กับสินทรัพย์ประเภทนี้
การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยจะช่วยให้มีระบบนิเวศที่ดีขึ้นสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล และนำไปสู่โอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมการเงินมากกว่าที่เคย
คุณชลเดช กล่าวต่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมการเงินจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เพราะประเทศไทยมีแผนกำหนดแนวทางนโยบายใหม่สำหรับภาคการธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบการออกใบอนุญาตของvirtual banking ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและเอกชน
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า