NirvaMed

คุยเรื่อง MedTech กับ ดร.ปราโมทย์ หอเจริญ ผู้ก่อตั้ง NirvaMed นวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจ

เราอยู่ในธุรกิจที่ไม่อยากให้มีลูกค้า แต่เราทำ เพราะมีคนต้องการเรา

คือส่วนหนึ่งจากการพูดคุยกันระหว่างทีมงาน AHEAD ASIA กับ ดร.ปราโมทย์ หอเจริญ ผู้ก่อตั้ง NirvaMed ผู้พัฒนานวัตกรรมบรรเทาอาการหัวใจวาย ซึ่งได้รับการลงทุนในรอบ Series A จาก SeaX Ventures, PTT GC, มูลนิธิศิริราช ฯลฯ  ระหว่างงาน SEAT Conference 2022 เมื่อเร็ว ๆ นี้

ถึงที่มาที่ไปของสตาร์ทอัพไทย ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ และมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งโลก

รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีการแพทย์ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

รับมือมฤตยูอันดับหนึ่ง

ดร.ปราโมทย์ เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของ NirvaMed ว่าเกิดขึ้นหลังจากเดินทางไปเรียนด้านวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering) ที่มินนิโซตา และปักหลักใช้ชีวิตที่นั่นมาตลอด

รวมถึงก่อตั้งสตาร์ทอัพทางการแพทย์ขึ้น เพื่อหาทางรับมืออาการหัวใจวาย ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของชาวอเมริกันในแต่ละปี

และมากสุดติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก หรือประมาณ 18 ล้านคนต่อปี

ส่วนในประเทศไทย สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ก็พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจของคนไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน

และที่น่ากลัว คือมันสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้

นั่นคือเหตุผลว่าทำไม ดร.ปราโมทย์ ถึงใช้คำว่านี่เป็นธุรกิจ “ที่ไม่อยากให้มีลูกค้า”

Heart Cooling Technology คือ เทคโนโลยีการทำความเย็นหัวใจและหลอดเลือด ที่ NirvaMed กำลังวิจัยและพัฒนา เพื่อลดปัญหาหัวใจวาย โดยการทำให้หัวใจเย็นอย่างเฉียบพลันเฉพาะจุด ก่อนการผ่าตัด

หากสำเร็จ วิธีนี้จะช่วยลดอัตราการตายของกล้ามเนื้อหัวใจประมาณ 80-90% เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐานในปัจจุบัน

นอกจากเรื่องประสิทธิภาพแล้ว ดร.ปราโมทย์ ยังหวังว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำให้สิ่งนี้ “เข้าถึงได้” (accessible) สำหรับคนหมู่มากด้วย

 

ทำสิ่งพิเศษให้ไม่พิเศษ

เมื่อชวนคุยถึงอนาคตของเทคโนโลยีการแพทย์ (MedTech)

ดร.ปราโมทย์ มองว่าความก้าวหน้าที่มากขึ้น ควรจะนำมาซึ่งสามสิ่ง คือ

ประสิทธิภาพ (Effective)

ลดค่าใช้จ่าย (Cost Reduction)

และที่เน้นเป็นพิเศษ คือ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึง (Accessibility)

ในฐานะแพทย์และนักวิจัย ดร.ปราโมทย์ มองเห็นปัญหาใหญ่ทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่าเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ

ที่ทำให้คนบางกลุ่ม มีโอกาสดีกว่าคนอีกกลุ่มอยู่เสมอ ไม่ว่าจะฐานะ การศึกษา สภาพแวดล้อม หรือแม้แต่เรื่องเพศ

แต่เจ้าตัวก็หวังว่าในอนาคต ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ จะได้รับการแก้ไข โดยที่เทคโนโลยีทางการแพทย์มีบทบบาทสำคัญ

หนึ่งในตัวอย่างที่ ดร.ปราโมทย์ ยกขึ้นมา คือการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ (Robotic Surgery)

เพราะโดยทั่วไป เรามักกลัวว่า AI หรือระบบอัตโนมัติ จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ไป

แต่ ดร.ปราโมทย์ กลับมองว่าต่อให้ศัลยแพทย์หนึ่งคนเก่งแค่ไหน ก็ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นล้าน ๆ คนได้

กลับกัน ถ้าเราพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดที่ทำงานได้ดีเหมือนศัลยแพทย์

ความเหลื่อมล้ำที่มีแค่คนบางกลุ่มได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะหมดไป

แน่นอนว่ามันอาจทำให้บางคนรู้สึกว่าถูกลดทอนคุณค่าลงไป

แต่สำหรับ ดร.ปราโมทย์ แล้ว การทำให้ทักษะพิเศษเหล่านั้น ไม่ใช่เรื่องพิเศษเหมือนเดิม (Make special skills not so special)

สิ่งที่เราจะได้ตอบแทนกลับมา ก็คือ “ความเท่าเทียม” ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับคนหมู่มากแทนนั่นเอง

 

ขอบคุณ แมคฟิว่า MCFIVA ผู้นำด้านดิจิทัล เอเจนซี่ของไทย ในฐานะผู้จัดงาน SEAT Conference 2022 : Southeast Asia Technology Conference 2022 สำหรับการพูดคุยกับ ดร.ปราโมทย์ ในโอกาสนี้ด้วยครับ
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
Dyson

Dyson ประกาศต่อยอดธุรกิจความงาม เล็งเปิดตัว 20 ผลิตภัณฑ์ใหม่ใน 4 ปี

Next Article
NIA DEEP TECH Demo Day

NIA DEEP TECH Demo Day จัดแสดงสุดยอดนวัตกรรมสตาร์ทอัพ

Related Posts