ทีมวิจัยนำโดย เดวิด ซินแคลร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต้านชราจากสถาบัน Blavatnik โรงเรียนแพทย์ฮาวาร์ด พบความเป็นไปได้ในการรีเซตอายุสิ่งมีชีวิต ทั้ง ย้อนวัย และเร่งให้แก่ได้ พร้อมผลงานตัวอย่างที่ย้อนให้หนูทดลองอายุมากกลับมาแข็งแรงเหมือนหนุ่มอีกครั้ง
ในงานวิจัยชื่อ Loss of epigenetic information as a cause of mammalian aging ที่ ซินแคลร์ เขียนร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันหลาย ๆ แห่ง อธิบายว่าการย้อนวัยของสัตว์เลี้้ยงลูกด้วยนม เป็นไปได้ เพราะร่างกายมีข้อมูลในช่วงที่ยังเป็นหนุ่มสาวแบ็กอัพไว้
แนวคิดนี้แย้งกับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์แบบเดิม ที่ว่าความชราเป็นผลจากการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้ดีเอ็นเอของเราเสื่อมถอย สร้างเนื้อเยื่อเซลล์ที่เสียหาย ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการป่วยและเสียชีวิต
สิ่งที่ ซินแคลร์และทีมนำเสนอ เปรียบเทียบมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ว่า DNA เปรียบเสมือนฮาร์ดแวร์
ส่วน เอพิจีโนม ซึ่งบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของเซลล์และโปรตีนในร่างกาย คือซอฟต์แวร์ที่ควบคุมการทำงานของ DNA
เมื่อ เอพิจีโนม ทำงานผิดปกติ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น มลภาวะ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ รวมถึงพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อาทิ สูบบุหรี่ นอนไม่พอ หรือกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ
ก็จะส่งผลให้ DNA หรือตัวฮาร์ดแวร์ ทำงานผิดปกติไปด้วย
ซินแคลร์ อธิบายว่าทีมวิจัยค้นพบข้อมูล “ซอฟต์แวร์” ที่ถูกแบ็กอัพไว้ การรีบูตระบบในร่างกายใหม่ ทำให้เซลล์กลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนเกิดปัญหา เหมือนที่เรารีเซตคอมพิวเตอร์กลับไปสู่ค่าตั้งต้น (Default) ซึ่งก็คือการย้อนกลับไปสู่วัยหนุ่มนั่นเอง
กลับกัน เราก็สามารถเร่งอายุให้แก่ได้ด้วยการสั่งให้ทำงานในแบบตรงข้าม
ในการทดลองเพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้ ทีมของ ซินแคลร์ พัฒนาสารที่เรียกว่า ICE (ย่อมาจาก Inducible Changes to the Epigenome) ซึ่งจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงการทำงานของ DNA และเร่งให้เซลล์ของหนูทดลองอายุหนึ่งปี มีลักษณะแก่ขึ้นเท่าตัว
ด้าน หลู หยวนเฉิง นักพันธุศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ Sinclair ก็ทดลองฉีดสารประกอบ ที่สร้างจากยีน “Yamanaka Factor” ในเซลล์ปมประสาทเรตินาที่เสียหายของหนูที่ตาบอด และกระตุ้นให้ทำงานโดยใช้ยาปฏิชีวนะ
ผลคือหนูทดลองตัวนั้นกลับมามองเห็นได้เกือบเป็นปกติ และมีการทดลองแบบเดียวกันกับเซลล์อื่น ๆ เช่น สมองกล้ามเนื้อ และไต ทำให้เซลล์เหล่านี้กลับไปที่ระหว่าง 50-75% ของอายุเดิม โดยไม่เกิดการกลายพันธุ์ตามมา
ซินแคลร์ ยอมรับว่าการนำแนวคิดนี้ไปใช้กับมนุษย์ยังอาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกหลายสิบปี
ก่อนเสริมว่าสิ่งที่สามารถทำได้ ณ ปัจจุบัน คือการพืชผักเป็นหลัก ไม่ทานมากเกินไป นอนพักผ่อนให้พอ ออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละสิบนาที สามครั้งต่อสัปดาห์ และอยู่ในสังคมที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำต่อเนื่องในทุกช่วงอายุ
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า