ปัจจุบัน อุตสาหกรรม brain-computer interface (BCI) หรือระบบอินเตอร์เฟสที่เอื้อให้ผู้ใช้งานสั่งการคอมพิวเตอร์จากความคิดกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจาก Neuralink ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากชื่อเสียงของ อีลอน มัสก์ อีกหนึ่งสตาร์ทอัพด้านนี้ ที่น่าจับตาเช่นกันคือ Synchron ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2012
เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในการระดมทุนรอบล่าสุด บริษัทฯก็ได้รับเงินทุนเพิ่มอีก 75 ล้านดอลลาร์ (2,576 ล้านบาท) จาก VC ที่มี บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft และ เจฟฟ์ เบโซส จาก Amazon ร่วมลงทุนอยู่ด้วย
ขณะที่ Neuralink เลือกเชื่อมต่อระบบของตนเข้ากับสมองโดยตรงผ่านการผ่าตัด และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้ทดลองโดยตรงกับมนุษย์
Synchron ใช้วิธีที่ปลอดภัยกว่า คือการสอดอุปกรณ์ที่เรียกว่า Stentroe เข้าทางหลอดเลือด เพื่อเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลจากสมองกับอุปกรณ์ภายนอก
ปีเตอร์ หยู ผู้อำนวยการอาวุโสด้านประสาทวิทยาของ Synchron อธิบายว่าการที่อุปกรณ์ไม่ได้เชื่อมกับสมองโดยตรงทำให้คุณภาพสัญญาณไม่สมบูรณ์
แต่ที่เลือกใช้วิธีนี้ เพราะโดยธรรมชาติ สมองไม่ต้องการสัมผัสกับวัตถุภายนอก
และด้วยวิธีนี้ ทำให้เทคโนโลยีของ Synchron ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) ให้เริ่มทดลองกับมนุษย์ได้ตั้งแต่ปี 2021
ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้ารับการทดลองระบบนี้ 3 รายในสหรัฐฯ และ 4 รายในออสเตรเลีย ซึ่ง หยู เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้มีโอกาสดีกว่าในการสเกลอัพ ถ้าเทียบกับการผ่าตัดเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ในสมอง ซึ่งต้องอาศัยศัลยแพทย์เท่านั้น
ในการทดลอง ผู้ป่วยซึ่งป่วยเป็นอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฯลฯ สามารถกลับมาสื่อสารกับคนรอบข้างได้ ผ่านการพิมพ์และส่งข้อความ
ทอม อ็อกซ์ลีย์ ซีอีโอของบริษัทฯ อธิบายว่าการกลับมาสื่อสารกับผู้คนได้อีกครั้ง ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่เคยถูกโดดเดี่ยวกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า มัสก์ และ Neuralink ก็แสดงความสนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีนี้ด้วย แต่ถูกSynchron ปฏิเสธ
เคิร์ท แฮกสตรอม ประธานเจ้าหน้าที่การค้า (ซีซีโอ) ของ Synchron เสริมว่าการแข่งขันระหว่างบริษัทต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรม BCI เติบโตขึ้น
และถ้าบริษัทไหนสามารถปล่อยผลิตภัณฑ์หรือบริการสู่ตลาดได้ก่อน ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะหลายครอบครัวที่ประสบปัญหานี้ กำลังมองหาโซลูชั่นที่จะช่วยให้ชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ กลับมาใกล้เคียงของเดิมอีกครั้ง
Source : CNBC
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า