AI ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเราอีกแล้ว
หลายปีมานี้ ผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Siri, Alexa และ Google Assistant เป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง จนการมาถึงของChatGPT ที่น่าจะเปลี่ยนมุมมองของเราต่อเทคโนโลยีนี้ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ฟิล บลันซัม หัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์ของ Cohere สตาร์ทอัพด้าน AI ซึ่งจะได้รับการลงทุนจากกองทุนที่ Salesforce เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ เล่าว่าเขาทำงานด้าน language modeling มาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ จนเมื่อเร็วๆ นี้เองที่ทุกอย่างเปลี่ยนไป
ข้อมูลจาก New York Times ระบุว่านับแต่เข้าปี 2023 เป็นต้นมา มีเงินลงทุนจาก Venture Capital ไหลไปที่สตาร์ทอัพด้าน AI มากถึง 269 ราย คิดเป็นเงิน 3,600 ล้านดอลลาร์
ส่วนที่ Y Combinator ในรายชื่อสตาร์ทอัพ 218 ราย ซึ่งร่วมงานกับอินคิวเบเตอร์รายนี้ในปัจจุบัน ก็พบว่ามีอย่างน้อย50 รายที่พัฒนา Generative AI
1️⃣
เหตุเกิดจาก ChatGPT
หลังเปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ChatGPT ก็สร้างประวัติศาสตร์มากมาย
หนึ่งในนั้นคือการเป็นเจ้าของสถิติใหม่ที่มีผู้ใช้งานต่อเดือน (monthly active users) ถึงหลัก 100 ล้านคน เมื่อเดือนมกราคม หรือแค่สองเดือนหลังการเปิดตัว ทำลายสถิติเดิมของ TikTok ที่ทำไว้ 9 เดือนแบบขาดลอย
ข้อมูลจาก Similarweb ระบุว่ายอดผู้ใช้งานต่อวันในเดือนมกราคมของ ChatGPT อยู่ที่ 13 ล้านราย หรือเพิ่มเกินกว่าเท่าตัวจากเดือนธันวาคม
และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมันเป็นที่ยอมรับของคนมากขึ้น รวมถึงการเปิดตัว GPT-4 ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม
ความสำเร็จของ ChatGPT ไม่ใช่แค่ช่วยให้ OpenAI ได้เงินลงทุนมหาศาลจาก Microsoft เพิ่มจาก 3,000 ล้านดอลลาร์เป็น 13,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อต้นปี
แต่ยังส่งผลถึงสตาร์ทอัพด้าน AI อื่น ๆ ด้วย
อเล็กซ์ ลี ซีอีโอของ Truewind สตาร์ทอัพผู้พัฒนา AI ให้เป็นผู้ช่วยในงานบัญชี เล่าว่าตั้งแต่ ChatGPT บูม การอธิบายให้นักลงทุนและกลุ่มเป้าหมายฟังว่ากำลังทำอะไรอยู่ก็ง่ายขึ้นมาก เพราะคนเหล่านี้เข้าใจแล้วว่า AI ทำอะไรได้บ้าง
2️⃣
ยูนิคอร์น และความตื่นตัวของนักลงทุน

OpenAI ไม่ใช่แค่ยูนิคอร์นรายเดียวในวงการนี้ เพราะสตาร์ทอัพสาย AI อื่น ๆ ที่อยู่ในวงการมานาน ก็ได้รับการประเมินในระดับใกล้เคียงกัน
ทั้ง Cohere ของ บลันซัม (6,000 ล้านดอลลาร์) Stability AI (4,000 ล้านดอลลาร์) Anthropic (4,100 ล้านดอลลาร์)
และล่าสุด สด ๆ ร้อน ๆ คือ Adept AI ที่เพิ่งระดมทุนเพิ่มได้ 300 ล้านดอลลาร์ เมื่อกลางเดือนมีนาคม จนขึ้นชั้นยูนิคอร์นสำเร็จ
นอกจากกลุ่มนี้ ยังมีสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแยกตัวมาจาก OpenAI, Google หรือMeta
เช่น Dust ของอดีตทีมงาน OpenAI ซึ่งอยู่ระหว่างระดมทุนจาก Sequoia Capital ซึ่งจะส่งให้มูลค่าของบริษัทขยับไปอยู่ที่ 30-40 ล้านดอลลาร์
Perplexity ที่มีทั้งพนักงานเก่าของ OpenAI, Google และ Meta ซึ่งได้รับการประเมินว่าจะมีมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์หลังการระดมทุนล่าสุดจาก NEA
แมทท์ เทิร์ค นักลงทุนด้าน AI ของกองทุน FirstMark อธิบายว่าที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ส่วนใหญ่เลือกที่จะทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นหลัก
การที่คนเหล่านี้แยกตัวออกมาตั้งสตาร์ทอัพของตัวเอง จึงสร้างความตื่นตัวให้นักลงทุนเป็นพิเศษ
ส่วนสภาพตลาด ณ ปัจจุบัน คือสถานการณ์ที่นักลงทุนลองหว่านเมล็ดลงไป
และรอดูว่าสตาร์ทอัพเหล่านี้จะเติบโตอย่างไร และมีรายไหนที่อยู่รอดบ้างในระยะยาว
3️⃣
ความท้าทายของสตาร์ทอัพ AI
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือสตาร์ทอัพเหล่านี้จะยืนระยะได้หรือไม่ เมื่อต้องแข่งขันกับผู้นำในวงการ
เพราะความท้าทายหลักของสตาร์ทอัพสาย AI คือต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
ไมค์ โวลปิ นักลงทุนใน Index Ventures ซึ่งเป็นหนึ่งในบอร์ดของ Cohere สตาร์ทอัพด้าน AI ด้วย อธิบายว่าเพราะการเทรน AI ด้วยข้อมูลมหาศาล จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งมีราคาแพง
และการจะพัฒนาโมเดลขนาดใหญ่ในระดับใกล้เคียงกับที่ ChatGPT ทำได้ น่าจะต้องใช้เงินอย่างน้อย 500 ล้านดอลลาร์
นั่นเป็นเหตุผลที่นักลงทุนบางส่วน มองว่าสุดท้าย สตาร์ทอัพเหล่านี้จะยืนระยะไม่ไหว เมื่อต้องแข่งขันกับผู้เล่นที่สายป่านยาวกว่า อย่าง Microsoft หรือ Google
หนึ่งในนั้นคือ แซม เลสซิน VC ของ Slow Ventures ที่มองว่าวิธีที่ดีที่สุดในการลงทุนด้าน AI คือซื้อหุ้นของเหล่ายักษ์นี้ไว้ แทนที่จะลงทุนกับสตาร์ทอัพ ซึ่งยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นพอในตอนนี้
Source : New York Times, Reuters, Bizjournals
AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า