Prompt Engineering

Prompt Engineering ทักษะใหม่ สะพานเชื่อมระหว่างมนุษย์และ AI

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกพัฒนาจนเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเราในแทบทุกด้าน โดยเฉพาะ generative AI ที่คิด เรียนรู้ และสื่อสารได้ใกล้เคียงกับมนุษย์จริง ๆ

รูปแบบการทำงานประเภทหนึ่งก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย นั่นคือ prompt engineering

Prompt engineering คืออะไร สำคัญยังไงกับยุค AI

หลักการพื้นฐานของ prompt engineering คือการตั้งคำถาม หรือออกคำสั่ง เพื่อเป็นแนวทางให้ AI (เช่น Large Language Models แบบ ChatGPT หรือ Bard) สร้างผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ เช่น เขียนอีเมล บทความ วาดรูป ฯลฯ

เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือการสอนเด็กหนึ่งคนให้ทำตาม ผ่านการตั้งคำถาม ยิ่งคำถามผ่านการขัดเกลามาดีเท่าไหร่ ก็ช่วยให้เด็กคนนั้นเรียนรู้ได้ดี ฉลาดขึ้น และทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

จริง ๆ แล้ว หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับ prompt engineering อยู่แล้ว เพราะการคุยกับ Siri หรือ Alexa ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่ง เพราะคำสั่งที่เราพูดกับผู้ช่วยอัจฉริยะเหล่านี้ ก็คือ prompt นั่นเอง

คำทุกคำใน prompt จึงมีความหมาย การเปลี่ยนคำเพียงเล็กน้อย อาจส่งผลมหาศาลต่อผลลัพธ์หรือคำตอบ

สิ่งที่ prompt engineering ทำ ไม่ใช่แค่การตั้งคำถาม แต่ยังต้องเรียบเรียงและเลือกใช้คำให้สองคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการ เพื่อสอนให้ AI เข้าใจบริบท ความแตกต่าง และจุดประสงค์ที่อยู่เบื้องหลังคำถามหรือคำสั่งเหล่านั้น

การเขียนคำสั่ง (prompt) ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นทั้งศิลป์ (ความคิดสร้างสรรค์ การริเริ่ม และความเข้าใจในภาษา) และศาสตร์ (รูปแบบการพิมพ์คำสั่ง ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานการทำงานของ AI)

เช่น การพิมพ์ว่า space ship และ space:: ship ใน prompt สำหรับ จะได้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกันเลย

วิวัฒนาการของ NLP และ Prompt Engineering

Prompt engineering อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็มีความเชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกของ Natural language processing (NLP) ช่วงกลางศตวรรษที่ 20

การสร้างและพัฒนา NLP ในยุคบุกเบิก ยังเป็นไปตามอัลกอริทึมพื้นฐาน ซึ่งประสบปัญหาในการทำความเข้าใจความซับซ้อน และยุ่งยากของภาษามนุษย์

จนเมื่อความสามารถในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์รวดเร็วกว่าเดิม และฐานข้อมูลที่มีมากขึ้น อัลกอริทึมแบบ Machine Learning จึงเริ่มมีบทบาทสำคัญ ทำให้เราเริ่มเห็นโมเดล AI ที่ทำงานกับภาษาได้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าใจบริบท และการสร้างข้อความขนาดยาวที่สอดคล้องกัน

จนเมื่อสถาปัตยกรรมแบบ transformer เพื่อประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และจับแพทเทิร์นการใช้ภาษาที่สำคัญ ๆ ถูกพัฒนาขึ้น เมื่อราวปี 2017 จุดเปลี่ยนสำคัญของ AI ก็มาถึง

transformer ในยุคแรก อย่าง BERT ของ Google สามารถจัดหมวดหมู่ข้อความ และวิเคราะห์ความรู้สึกที่แฝงอยู่ในเนื้อความได้

จนเมื่อ OpenAI เปิดตัวซีรีส์ Generative Pre-trained Transformer (GPT) ขึ้น ความสามารถของ AI ก็พัฒนาไปอีกระดับ ด้วยการทำในสิ่งที่รุ่นก่อน ๆ ทำไม่ได้ เช่น การสร้างข้อความที่สอดคล้องกันภายในบริบท และรูปแบบการใช้ภาษาที่ใกล้เคียงกับมนุษย์

และเป็นยุคนี้เองที่บทบาทของ prompt engineering มีความสำคัญ เพราะการเลือกใช้คำสั่งที่ถูกต้องและชัดเจน มีผลอย่างมากต่อคุณภาพของผลลัพธ์ที่ได้

และเมื่อโมเดลแบบ transformer แพร่หลายมากขึ้น และถูกนำไปต่อยอดใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ คนที่มีทักษะด้านนี้ จึงเริ่มเป็นที่ต้องการ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมในการดึงศักยภาพของโมเดลที่ทรงพลังเหล่านี้ออกมา

Prompt Engineer กุญแจสำคัญของยุค AI?

อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนว่า prompt engineering เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ Prompt Engineer จึงไม่ใช่แค่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค แต่ต้องมีความเป็นศิลปินในตัว เพื่อทำความเข้าใจภาษา บริบท และพฤติกรรมของโมเดลที่ใช้งานอยู่ได้

เร็ว ๆ นี้ รายงานจาก Time Magazine ระบุว่าองค์กรต่าง ตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีไปจนถึงสตาร์ทอัพ กำลังให้ความสนใจกับคนที่มีทักษะทั้งสองด้านนี้ในตัวมากขึึ้น เพื่อรองรับธุรกิจต่าง ที่ขับเคลื่อนด้วย AI และเราจะเริ่มเห็นการประกาศรับคนที่มีทักษะด้านนี้เป็นจำนวนมาก บนเว็บไซต์อย่าง Indeed และ LinkedIn ในอัตราค่าแรงตั้งแต่ 50,000 ดอลลาร์ จนถึง 150,000 ดอลลาร์ต่อปี

ทักษะที่ Prompt Engineer ควรมี

แม้ในบางบทความ จะมองว่า Prompt Engineer เน้นหนักในเรื่องภาษามากกว่าการเขียนโค้ด แต่ แมตต์ แคร็บทรี จาก DataCamp กลับมองว่าอาชีพนี้ ควรมีทักษะทั้ง Hard skills และ Soft skills ควบคู่กัน

ในเชิงเทคนิค Prompt Engineer ควรมี

  • ความเข้าใจการทำงานของ Natural language processing (NLP) ในระดับลึก
  • ความคุ้นเคยกับโมเดล Large Language Model (LLM) รูปแบบต่าง ๆ เช่น GPT, PaLM2 ฯลฯ รวมถึงสถาปัตยกรรมที่อยู่เบื้องหลัง
  • การทดลองและทำซ้ำ ทักษะในการทดสอบ ปรับแต่ง และดึงประโยชน์สูงสุดจากโมเดลที่ใช้งาน ด้วย prompt
  • Data analysis ความสามารถในการวิเคราะห์ผลที่ AI สร้างขึ้น  ระบุแพทเทิร์น และตัดสินใจโดยอ้างอิงข้อมูล

นอกจากความรู้เชิงเทคนิค Prompt Engineer ก็ควรมี soft skills เหล่านี้ด้วย

  • การสื่อสาร สามารถถ่ายทอดไอเดีย ทำงานร่วมกับทีม และเข้าใจความต้องการของยูสเซอร์
  • ความเชี่ยวชาญในประเด็นต่าง ๆ  ความรู้เฉพาะด้านจะมีคุณค่ามาก เมื่อต้องเขียนคำสั่งสำหรับโมเดล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เฉพาะทาง
  • ความเชี่ยวชาญด้านภาษา เข้าใจการใช้ภาษา แกรมมาร์ และความหมาย  เพื่อเขียน prompt  ที่มีประสิทธิภาพ
  • การคิดเชิงวิเคราะห์ สามารถประเมินผลที่ AI สร้างขึ้นได้ ระบุว่ามี bias หรือไม่ในชิ้นงาน และปฏิบัติตามจริยธรรมของการใช้งาน AI
  • ความคิดสร้างสรรค์  คิดนอกกรอบ ทดลองสไตล์การเขียน prompt และหาโซลูชั่นใหม่

เพราะโลกเราเข้าสู่ยุคของ AI อย่างเป็นทางการแล้ว Prompt Engineer จึงไม่น่าจะเป็นแค่เทรนด์ที่มาหวือหวาแค่วูบเดียวแล้วหายไป

แต่คนที่จะมาทำงานนี้ จำเป็นต้องมีความรู้และเชี่ยวชาญเฉพาะทางในตัวด้วย เพื่อเขียนคำสั่งให้ตรงกับสายงาน เช่น เฮลธ์แคร์ บันเทิง ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความรับผิดชอบในการเขียนคำสั่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ AI เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเสริมและยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ให้ดีขึ้นด้วย

AHEAD ASIA นวัตกรรม ล้ำหน้า

Subscribe to Our Newsletter

Loading
Total
0
Shares
Previous Article
McKinsey

5 ความท้าทายในอนาคตที่เอเชียต้องรับมือ ในมุมมองของ McKinsey

Next Article
แจกดิจิทัลวอลเล็ต

วิจัยกรุงศรี มองการลงทุนภาคเอกชนปีนี้เติบโตต่ำ หวั่นแจกดิจิทัลวอลเล็ตกระทบคลัง

Related Posts